วรรณกรรมรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์พระเจ้ากรุงธนบุรีสู่นาฏกรรม

ผู้แต่ง

  • ไพโรจน์ ทองคำสุก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภา

คำสำคัญ:

วรรณกรรม, รามเกียรติ์, พระเจ้ากรุงธนบุรี, นาฏกรรม

บทคัดย่อ

พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในพระเจ้ากรุงธนบุรี นับเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ตั้งแต่เมื่อต้นรัชกาล แม้นการศึกสงครามในรัชกาลของพระองค์จะมีมาก แต่เมื่อยามว่างศึกสงครามก็ทรงปรึกษาหารือรวบรวมบทรามเกียรติ์ที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ทรงรวบรวมไว้ถึง 4 ตอน คือ ตอนที่ 1 ตอนพระมงกุฎ ตั้งแต่ พระมงกุฎประลองศรจนถึงพระลบมาช่วยให้หนีได้ซึ่งเป็นเรื่องตอนท้ายของเรื่องรามเกียรติ์ แต่ก็ทรงพระราชนิพนธ์เป็นเล่มแรกตอนที่ 2 ตอนหณุมานเกี้ยวนางวานริน สังหารวิรุณจำบัง จนถึงท้าวมาลีวราชมา ตอนที่ 3 ตอนท้าวมาลีวราชว่าความจนทศกัณฐ์เข้าเมือง ตอนที่ 4 ตอนทศกรรฐ์ตั้งพิธีทรายกรด พระลักษมณ์ต้องหอกกบิลพัสดุ์ จนถึงหณุมานผูกผมทศกัณฐ์กับนางมนโทคิรี เนื้อความในตอนที่ 2-4 มีความต่อเนื่องกัน พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชประสงค์ที่จะฟื้นฟูละครหลวงให้เหมือนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสูญหายไปในการเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2310 ครูละครหลวงต่างพลัดพราก หลบหนีไปอยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งพระองค์ก็ให้คนออกติดตามค้นหานำกลับมายังเมืองหลวง และรวบรวมฝึกหัดละครผู้หญิงของหลวงขึ้น โดยใช้บทพระราชนิพนธ์ของพระองค์ นับเป็นการฟื้นฟูทั้งตัวบทละครเรื่องรามเกียรติ์ และการแสดงละครผู้หญิงของหลวงขึ้นใหม่ในสมัยกรุงธนบุรี มีการแสดงละครผู้หญิงของหลวงมาจนสิ้นรัชกาล แม้ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังคงมีการแสดงละครผู้หญิงของหลวงแต่จะใช้บทพระราชนิพนธ์ของแต่ละรัชกาลจนถึงกาลเวลาในปัจจุบัน ละครผู้หญิงของหลวงได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับใช้ชื่อว่าละครใน เพื่อให้สอดคล้องกับละครนอก หากเป็นเรื่องรามเกียรติ์ก็จะนิยมจัดแสดงในรูปแบบของการแสดงโขน ส่วนละครในนิยมแสดงเฉพาะเรื่องอิเหนาและอุทรุทเท่านั้น ทำให้มีการนำบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ของพระเจ้ากรุงธนบุรีมาจัดแสดงในรูปแบบการแสดงโขนอยู่อย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาพบว่า พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ของพระเจ้ากรุงธนบุรีมีเอกลักษณ์เฉพาะ คือรูปแบบคำประพันธ์เป็นกลอนบทละคร ฉันทลักษณ์ไม่จำเป็นต้องมีสัมผัสกับวรรครอง หรือสระเสียงยาวกับสระเสียงสั้นสัมผัสกันได้ และเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงเน้นเพลงหน้าพาทย์ ตลอดจนการดำเนินเรื่องที่มีความแตกต่างจากรามเกียรติ์สำนวนอื่น นอกจากนี้ยังพบว่าการแสดงที่ใช้บทพระราชนิพนธ์ของพระองค์เป็นการแสดงละครผู้หญิงของหลวงที่มีรูปแบบการแสดงเฉพาะคือ ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน ผู้แสดงมีรูปร่างหน้าตางดงาม ผู้แสดงมีความสามารถรำได้เป็นอย่างดี เครื่องแต่งกายถูกต้องตามจารีตการแสดงละคร ดนตรีวงปี่พาทย์ไม้นวม และแสดงตามบทละครของหลวงจากบทพระราชนิพนธ์

References

กรมศิลปากร. (2549). บทอัดสำเนาการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ตอนหอกกบิลพัสดุ์.

กรมศิลปากร. (2532). วรรณกรรมสมัยธนบุรี เล่ม 1. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2546). ละครฟ้อนรำ. กรุงเทพฯ : มติชน.

ไพโรจน์ ทองคำสุก. (2560). บทอัดสำเนาการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ตอนหนุมานรบวิรุญจำบัง.

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2534). นิทรรศการพิเศษรามเกียรติ์ในศิลปะและวัฒนธรรมไทย (เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุครบ 3 รอบ). กรุงเทพฯ : อมรินทร์.

เสาวณิต วิงวอน. (2555). วรรณคดีการแสดง. กรุงเทพฯ : ศักดิโสภา.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-30