ปัญหาอุปสรรคของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง

ผู้แต่ง

  • สุรีรัตน์ เถื่อนชัย กองคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ

คำสำคัญ:

กฎหมายปกครอง, กระบวนการยุติธรรมทางปกครอง, ปัญหาและอุปสรรค

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษา วิเคราะห์ระบบศาล และวิธีพิจารณาคดีปกครองในเบื้องต้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง 2. เพื่อศึกษาวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายที่สูงเกินสมควรตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 68 ประกอบมาตรา 258 ที่บัญญัติรับรองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง ผลการศึกษา พบว่า การดำเนินงานของศาลปกครองอาจมีปัญหาบางประการที่สมควรแก้ไขปรับปรุงใน 3 ประเด็น คือ 1. ประเด็นเกี่ยวกับเขตอำนาจศาล เช่น กรณีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจของศาลปกครองในการพิจารณาพิพากษาคดีปกครองที่มีการฟ้องโต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอาจเป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวพันในเรื่องสิทธิในที่ดิน 2. ประเด็นปัญหาเรื่องโครงสร้างศาลปกครอง กล่าวคือ ศาลปกครองไทยแบ่งออกเป็นสองชั้นศาล คือ ศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุด เมื่อมีข้อพิพาททางปกครองเข้าสู่ศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจคำพิพากษาหรือคำสั่งคดีปกครองของศาลชั้นต้น ก็มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นไปยังศาลปกครองสูงสุด ซึ่งอาจเป็นเหตุให้คดีปกครองส่วนใหญ่ไปค้างการพิจารณาพิพากษาอยู่ในศาลปกครองสูงสุด และ 3. ประเด็นปัญหาการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดีปกครอง เนื่องจากคดีปกครองเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอาจมีความไม่เท่าเทียมกันประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในคดีปกครอง อันอาจเป็นอุปสรรคของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง จึงมีข้อเสนอแนะว่า 1. เรื่องเขตอำนาจศาล ควรนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของตุลาการศาลปกครองสูงสุด เพื่อพิจารณาให้ศาลปกครองสามารถพิจารณาวินิจฉัยถึงความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีปัญหาเกี่ยวกันกับกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ 2. เรื่องโครงสร้างศาลปกครอง โดยมีสองแนวทาง คือ แนวทางที่หนึ่งกรณีการจัดตั้งศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ ควรปรับโครงสร้างศาลปกครองของไทยให้มีศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ โดยแก้ไขพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แนวทางที่สองกรณีไม่จัดตั้งศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ เห็นควรแก้ไขปรับปรุงกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการก้าวสู่ตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด โดยให้ตุลาการศาลปกครองชั้นต้นสามารถขึ้นดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้สามารถมีอัตรากำลังตุลาการศาลปกครองสูงสุดให้เหมาะสมกับปริมาณคดีปกครองที่เพิ่มขึ้น 3. การช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดีปกครอง โดยแก้ไขระเบียบของที่ประชุมใหญ่ ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 โดยเพิ่มช่องทางให้ประชาชนผู้ไม่รู้กฎหมายมหาชน หรือผู้มีฐานะยากจนที่มีข้อพิพาททางคดีปกครองให้ได้รับการช่วยเหลือตามสมควรโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลปกครอง ขอให้จัดหาทนายความขอแรงหรือทนายอาสาหรือผู้มีความรู้ทางกฎหมายมหาชน เข้ามาช่วยดำเนินการร่างฟ้องและดำเนินคดีแทนให้ โดยให้รัฐเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายตามสมควร

References

ชาญชัย แสวงศักดิ์. (2555). คำอธิบายกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง. (พิมพ์ครั้งที่ 12). กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

ชาญชัย แสวงศักดิ์. (2563). สัญญาของทางราชการ: กฎหมายเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

ชาญชัย แสวงศักดิ์. (2543). คำอธิบายกฎหมายปกครอง. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

ชาญชัย แสวงศักดิ์. (2561). คำอธิบายกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง. (พิมพ์ครั้งที่ 12). กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

ฤทัย หงส์สิริ. (2555). ศาลปกครองและการดำเนินคดีในศาลปกครอง. กรุงเทพฯ: สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา.

วรพจน์ วิศรุตพิชญ์. (2544). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาลปกครอง. กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

บุปผา อัครพิมาน. (2548). เงื่อนไขการฟ้องคดีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในระบบกฎหมายฝรั่งเศส, รวมบทความทางวิชาการ เล่ม 3: กฎหมายปกครองภาควิธีสบัญญัติและกฎหมายอื่น ๆ. กรุงเทพฯ: สำนักงานศาลปกครอง.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-12-30