การจัดการเรียนรู้การสนทนาทักทาย “สวัสดีคุณครู” ด้วยภาษาไทยในฐานะภาษาที่สอง

ผู้แต่ง

  • ภัคธีมา เพชรพิศาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • กิตตินนท์ สุขสนาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • จอมขวัญ สุทธินนท์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

คำสำคัญ:

การจัดการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์, การสนทนาทักทาย, ภาษาไทยในฐานะภาษาที่สอง

บทคัดย่อ

บทความวิชาการนี้มุ่งนำเสนอการเรียนรู้ภาษาไทยสำหรับผู้เรียนชาวต่างชาติเรื่อง “สวัสดีคุณครู” ในประเด็น ความสำคัญของการจัดการเรียนรู้การสนทนาทักทาย “สวัสดีคุณครู” ด้วยภาษาไทยในฐานะภาษาที่สองแบบเน้นประสบการณ์ การจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนชาวต่างชาติรู้จักการกล่าวทักทาย “สวัสดีคุณครู” ตามแบบวัฒนธรรมไทย การจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนชาวต่างชาติรู้จักโครงสร้างบทสนทนาในการกล่าวทักทาย “สวัสดีคุณครู” และการกล่าวทักทายบุคคลอื่น ๆ ในสังคมไทย อันสะท้อนให้เห็นว่าการจัดการเรียนรู้เป็นกลวิธีของผู้สอนที่สามารถออกแบบให้ผู้เรียนเกิดความรู้ซึ่งเป็นพฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย (พฤติกรรมการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับสติปัญญา) แสดงออกถึงการเกิดการเรียนรู้ซึ่งเป็นพฤติกรรมด้านทักษะพิสัย (พฤติกรรมการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับความสามารถในการปฏิบัติงาน) และมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ซึ่งเป็นพฤติกรรมด้านจิตพิสัย (พฤติกรรมการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับจิตใจ) การจัดการเรียนรู้ภาษาไทยในฐานะภาษาที่สองสำหรับผู้เรียนชาวต่างชาติย่อมแตกต่างจากการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยในฐานะภาษาแรกสำหรับผู้เรียนชาวไทย เนื่องจากการได้ภาษาแรกของบุคคลเป็นแบบการรับจากประสบการณ์ตรง (Active) โดยเรียนรู้และเลียนแบบจากบุคคลแวดล้อมที่ใกล้ชิดในวัยก่อนเข้าโรงเรียน และเมื่อเข้าโรงเรียนจึงค่อย ๆ ปรับของใหม่เข้ากับของเดิมไปเรื่อย ๆ ในขณะที่การได้ภาษาที่สองของบุคคลมักเป็นการเรียนรู้แบบรับข้อมูล (Passive) โดยเรียนรู้จากการที่เจ้าของภาษาบอก สอน หรืออธิบายอีกทั้งวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยในฐานะภาษาที่สองมักเป็นไปเพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถสนทนาสื่อสารกับสมาชิกของสังคมเจ้าของภาษาไทยได้ผู้สอนจึงจำเป็นต้องออกแบบแผนการสอนโดยตั้งวัตถุประสงค์ปลายทางให้ผู้เรียนชาวต่างชาติสามารถสนทนาสื่อสารได้ตามขอบเขตของบทเรียนแต่ละครั้ง โดยเริ่มต้นบทเรียนจากการจัดการเรียนรู้การสนทนาที่ผู้เรียนชาวต่างชาติมีโอกาสได้ใช้ทันทีในชั้นเรียนขณะที่ผู้สอนสอน เช่น บทเรียนการสนทนาทักทายเรื่อง “สวัสดีคุณครู”ซึ่งจัดการเรียนรู้โดยใช้กรณีตัวอย่าง สถานการณ์จำลอง และบทบาทสมมติ อันเป็นการจัดการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ เพื่อให้ผู้เรียนชาวต่างชาติมีประสบการณ์การใช้ภาษาไทย และสามารถสนทนาทักทายด้วยภาษาไทยได้ในสถานการณ์ภายนอกชั้นเรียนได้ในที่สุด

References

กองวิเทศสัมพันธ์ ทบวงมหาวิทยาลัย. (2544). การสัมมนาระดับภูมิภาคว่าด้วยการเรียนการสอนภาษาไทยในบริบทไทยศึกษา. กรุงเทพฯ : สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

จอมขวัญ สุทธินนท์. (2562). การจัดการเรียนรู้ภาษาไทยเรื่อง “นี่อะไร” สำหรับผู้เรียนชาวจีน ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ปีการศึกษา 2560-2561. ว.สหวิทยาการสังคมศาสตร์และการสื่อสาร. 2(2), 130-143.

นิสา ศักดิ์เดชยนต์ ยุพา ส่งศิริ และใจเอื้อ บูรณะสมบัติ. (2526). ภาษาศาสตร์สำหรับครู. กรุงเทพฯ : อักษรไทย.

พรพิไล เลิศวิชา. (2557). แผนการสอนภาษาไทยประถมศึกษาตอนต้น. เชียงใหม่ : ธารปัญญา.

พิชานัน เพ็งลี. (2553). แบบเรียนสนทนาภาษาไทยสำหรับเด็กชาวต่างชาติระดับประถมศึกษา. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

วัฒนาพร ระงับทุกข์. (2542). แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : คอมพิวเตอร์กราฟฟิค.

วีระพงศ์ มีสถาน. (2560). เอกสารประกอบการอบรมเทคนิคการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ รุ่นที่ 11. นครปฐม : สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล.

เวชฤทธิ์ อังกนะภัทรขจร. (2552, มิถุนายน – กันยายน). การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ. ว.ศึกษาศาสตร์. 20 (3), 1-12.

สุจริตลักษณ์ ดีผดุง. (2552). วัจนปฏิบัติศาสตร์เบื้องต้น. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สามลดา.

สุรีย์วรรณ เสถียรสุคนธ์. (2554, มกราคม - มิถุนายน). การสอนภาษาไทยให้แก่นักศึกษาชาวจีน: สภาพ ปัญหา และแนวทางการแก้ไข. ว.มนุษยศาสตร์. 18 (1), 127-140.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-12-30