ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการมีส่วนร่วมของชุมชน ในกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ จังหวัดสมุทรปราการ

ผู้แต่ง

  • พัทธ์นดา นาคา คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • อลงกรณ์ อินทรักษา คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • อรอนงค์ ผิวนิล คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • นพวรรณ เสมวิมล คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คำสำคัญ:

การมีส่วนร่วมของชุมชน, กิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม, โรงไฟฟ้าพระนครใต้

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ และหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม และปัจจัยการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากโรงไฟฟ้าพระนครใต้ กับการมีส่วนร่วมของชุมชนในกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ตำบลบางโปรง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ จากกลุ่มตัวอย่างที่อาศัยอยู่ภายในรัศมี 0-5 กิโลเมตร จากโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โดยแบ่งเป็น 2 พื้นที่ คือ รัศมี 0-3 กิโลเมตร จำนวน 145 ตัวอย่าง และรัศมี 3-5 กิโลเมตร จำนวน 310 ตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 455 ตัวอย่าง เพื่อศึกษาปัจจัย ที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในแต่ละพื้นที่ เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) โดยใช้การวิเคราะห์สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistic Analysis) เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม และปัจจัยการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากโรงไฟฟ้ากับการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยทดสอบด้วยสถิติวิเคราะห์ความสัมพันธ์ไคสแควร์ (Chi – square) ผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้โรงไฟฟ้าพระนครใต้ คือ พื้นที่รัศมี 0-3 กิโลเมตร มีการเข้าร่วมกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมจากโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ร้อยละ 19.3 ซึ่งมีอัตราการเข้าร่วมกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ไกลจากโรงไฟฟ้าพระนครใต้ คือ พื้นที่รัศมี 3-5 กิโลเมตร ที่มีการเข้าร่วมกิจกรรมเพียง ร้อยละ 11.9 แสดงให้เห็นว่าผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้โรงไฟฟ้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมกว่าผู้ที่อยู่ไกลจากโรงไฟฟ้าในด้านปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการเข้าร่วมทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของพื้นที่ทั้งสอง พบว่า มีปัจจัยในการเข้าร่วมทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมแตกต่างกัน โดยปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเข้าร่วมทำกิจกรรม ความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ของกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่รัศมี 0-3 กิโลเมตร คือ การรับรู้ข่าวสารจากโรงไฟฟ้า ขณะที่ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเข้าร่วมทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ของกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่รัศมี 3-5 กิโลเมตร คือ อาชีพ รายได้การเป็นสมาชิกกลุ่ม และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากโรงไฟฟ้า 

References

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. (2561). โรงไฟฟ้าพระนครใต้. สืบค้น 19 กุมภาพันธ์ 2563, จาก https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=2541&Itemid=117

ณพัชร ประพันธ์พจน์. (2558). การมีส่วนร่วมในกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของพนักงานบริษัท ยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้ง จำกัด. [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยศิลปากร].

เนตินา โพธิ์ประสระ. (2541). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมและความผูกพันต่อองค์การของพนักงาน: ศึกษาเฉพาะกรณีบริษัทสิทธิผล 1919 จำกัด. [วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์].

รวิวรรณ เลาหะนันท์. (2559). กระบวนการดำเนินกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมกับการพัฒนาชุมชนขององค์กรธุรกิจ กรณีศึกษา ชุมชนบ้านโป่งแมลงวัน ตำบลเมืองใหม่โคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา. [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์].

เอกวิทย์ นวเศรษฐ. (2554). การศึกษากระบวนการมีส่วนร่วมในการวางผังชุมชน: กรณีศึกษาชุมชนโฟร์โมสต์และชุมชนทรัพย์สินพัฒนา. [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยศิลปากร].

Kaufman, H. F. (1949). Participation in Organized Activities in Selected Kentucky Localities. Kentucky: University of Kentucky.

Yamane, Taro. (1973). Statistics: An Introductory Analysis. (3rd ed.). New York: Harper and Row.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-06-30