จริยธรรมการตีพิมพ์

บทบาทและหน้าที่บรรณาธิการ (Editor Roles and Responsibility)

  1. บรรณาธิการวารสารมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารและจะปฏิเสธการรับตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์ที่อื่นมาแล้ว
  2. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้อง มีความน่าเชื่อถือ มีความใหม่และทันสมัย ซึ่งมีความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ
  3. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาอย่างรอบคอบในการรับบทความตีพิมพ์ โดยต้องใช้เหตุผลทางวิชาการในการพิจารณาบทความทุกครั้ง โดยปราศจากอคติที่มีต่อบทความและผู้นิพนธ์บทความ
  4. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
  5. บรรณาธิการต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์หรือผู้ประเมิน และไม่นำบทความหรือวารสารไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจส่วนตน
  6. บรรณาธิการมีการตรวจสอบการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) ของบทความอย่างจริงจัง โดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้
  7. เมื่อบรรณาธิการตรวจพบว่ามีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น ในกระบวนการประเมินบทความบรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการประเมินบทความดังกล่าวโดยทันที และติตต่อผู้นิพนธ์เพื่อขอคำชี้แจงประกอบการพิจารณา "ตอบรับ" หรือ "ปฏิเสธ" การตีพิมพ์บทความนั้น ซึ่งบรรณาธิการสามารถดำเนินการยกเลิกบทความได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เขียน ซึ่งถือเป็นสิทธิและความรับผิดชอบต่อบทความของบรรณาธิการ

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมิน (Reviewer Roles and Responsibilities)

  1. ผู้ประเมินเมื่อได้รับบทความจากบรรณาธิการวารสารแล้ว ผู้ประเมินบทความต้องคำนึงถึงคุณภาพบทความเป็นหลัก พิจารณาบทความภายใต้หลักการและเหตุผลเชิงวิชาการ โดยปราศจากอคติหรือความคิดเห็นส่วนตัว และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์ รวมถึงบทความถ้ามีส่วนใดส่วนหนึ่งเหมือนหรือซ้ำซ้อนกับผลงานอื่น ผู้ประเมินต้องแจ้งให้บรรณาธิการของวารสารทราบทันที
  2. ผู้ประเมินบทความ ควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาความสำคัญของเนื้อหาในบทความที่จะมีต่อสาขาวิชานั้น ๆ คุณภาพของการวิเคราะห์และความเข้มข้นของผลงาน ไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์
  3. ผู้ประเมินบทความ ต้องรักษาความลับ และไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของบทความที่ส่งให้พิจารณาแก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความไม่แสวงหาประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ตนเองได้ทำการประเมิน
  4. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องรักษาระยะเวลาประเมินตามกรอบเวลาประเมินที่กำหนด รวมถึงไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเสียรับรู้ในการตัดสินบทความ

  บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียนบทความ (Author Ethical Responsibilities)

  1. บทความที่จะได้รับการพิจารณาลงตีพิมพ์จะต้องเป็นบทความที่ไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อนและไม่ส่งต้นฉบับบทความซ้ำซ้อนกับวารสารอื่น
  2. เนื้อหาของบทความจะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของวารสาร และไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น
  3. ผู้เขียนต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่น หากมีการนำผลงานเหล่านั้นมาใช้ในบทความของตัวเอง เช่น ภาพ ตาราง เป็นต้น รวมถึงต้องตรวจสอบความถูกต้องของรายการเอกสารอ้างอิง ทั้งในแง่ของรูปแบบและเนื้อหา
  4. ผู้เขียนบทความจะต้องปรับบทความตามข้อกำหนดรูปแบบวารสารและขนาดตัวอักษรตามแบบฟอร์ม (template) ของวารสาร
  5. ผู้เขียนที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคน ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในการดำเนินการบทความจริง
  6. ผู้เขียนต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัยนี้ และ/หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนจะต้องระบุในบทความ และแจ้งให้บรรณาธิการทราบ
  7. ผู้เขียนไม่ควรนำเอกสารวิชาการที่ไม่ได้อ่านมาอ้างอิง หรือใส่ไว้ในเอกสารอ้างอิง และควรอ้างอิงเอกสารเท่าที่จำเป็นอย่างเหมาะสม ไม่ควรอ้างอิงเอกสารที่มากจนเกินไป
  8. การกล่าวขอบคุณผู้มีส่วนช่วยเหลือในกิตติกรรมประกาศนั้น หากสามารถทำได้ผู้เขียนบทความควรขออนุญาตจากผู้ที่ผู้เขียนประสงค์จะขอบคุณเสียก่อน
  9. ในบทความผู้เขียนจะต้องไม่รายงานข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างข้อมูลเท็จ หรือการปลอมแปลง บิดเบือน รวมไปถึงการตกแต่ง หรือ เลือกแสดงข้อมูลเฉพาะที่สอดคล้องกับข้อสรุป
  10. กรณีที่ผลงานเป็นการศึกษาวิจัยและทำการทดลองในคนหรือสัตว์ทดลอง โดยการทดลองในคนอาจส่งผลกระทบต่อศักดิ์ศรี สิทธิ ความปลอดภัย และสุขภาวะของคน ขอให้แนบหนังสือรับรองจริยธรรมจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์ทดลอง ทั้งนี้ การอนุมัติให้ลงตีพิมพ์ขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากกองบรรณาธิการวารสารฯ ถือเป็นที่สิ้นสุด