การปรับใช้แนวคิดเรื่อง “สินค้าที่เหมือนกัน” สำหรับกรณีของ “การบริการและผู้ให้บริการที่เหมือนกัน” ภายใต้ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ
DOI:
https://doi.org/10.14456/mfulj.2020.8คำสำคัญ:
การปรับใช้แนวคิด, สินค้าที่เหมือนกัน, การบริการและผู้ให้บริการที่เหมือนกันบทคัดย่อ
หลักการไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination) เป็นหลักการพื้นฐานอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยมีพันธกรณีที่เกี่ยวข้องกับการไม่เลือกปฏิบัติ ได้แก่ 1) พันธกรณีหลักชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favoured-Nation Principle: MFN) และ 2) พันธกรณีหลักปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment Principle: NT) ซึ่งเป็นพันธกรณีสำคัญที่อยู่ภายใต้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) พันธกรณีดังกล่าวได้ถูกบัญญัติอยู่ในความตกลงระหว่างประเทศหลายความตกลงด้วยกัน เช่น ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (The General Agreement on Trade in Goods: GATT 1994) ในข้อ 1 วรรค 1 ข้อ 3 วรรค 2 และข้อ 3 วรรค 4 และความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (The General Agreement on Trade in Services: GATS) ในข้อ 2 วรรค 1 และข้อ 17 เพื่อให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่สินค้าหรือบริการของประเทศอื่น ๆ หรือเป็นการปฏิบัติต่อสินค้าหรือการบริการของประเทศอื่น ๆ ให้เท่าเทียมกับประเทศของตน โดยพิจารณาจากคำว่า “สินค้าที่เหมือนกัน (Like product)” ซึ่งเป็นคำที่อยู่ในบทบัญญัติ GATT 1994 และคำว่า “การบริการและผู้ให้บริการที่เหมือนกัน (Like services and service suppliers)” ซึ่งเป็นคำที่อยู่ในบทบัญญัติ GATS แต่คำว่า “การบริการและผู้ให้บริการที่เหมือนกัน” ในความตกลง GATS ไม่ได้บัญญัติคํานิยามหรือความหมายไว้อย่างชัดเจน หากเทียบกับคำว่า “สินค้าที่เหมือนกัน” (Like product) ของความตกลง GATT 1994 ที่ปรากฏว่ามีคณะทำงาน (The Working Party on Border Tax Adjustment) ได้กำหนดหลักเกณฑ์พื้นฐานในการพิจารณาการตีความ “ความเหมือนกัน (Likeness)” ของสินค้าว่าจะต้องตีความเป็นรายกรณีไป(Case by case) โดยอาจใช้หลักเกณฑ์ต่อไปนี้นำมาพิจารณา ได้แก่ การพิจารณาถึงลักษณะทางกายภาพ (Physical characteristic) การใช้ในขั้นสุดท้าย (End-use) รสนิยมและอุปนิสัยของผู้บริโภค (Consumer tastes and habits) และพิกัดอัตราภาษีศุลกากร (Tariffs classification)
ดังนั้น บทความวิจัยฉบับนี้จึงมุ่งศึกษาเกี่ยวกับการปรับใช้แนวคิดการพิจารณาคำว่าสินค้าที่เหมือนกันนำมาปรับใช้ในเรื่องการบริการและผู้ให้บริการที่เหมือนกัน โดยผลการศึกษาพบว่าหลักเกณฑ์ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้อาจเป็นเรื่องการพิจารณาถึงรสนิยม อุปนิสัย และการใช้งานขั้นสุดท้ายของผู้บริโภค
Downloads
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2020 วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.