ปัญหาในการบังคับจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภายใต้ข้อบทเรื่องบริการส่วนบุคคลที่เป็นอิสระ
คำสำคัญ:
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, อนุสัญญาภาษีซ้อนฯ, การให้บริการส่วนบุคคลที่เป็นอิสระบทคัดย่อ
การจัดเก็บภาษีจากบริการส่วนบุคคลที่เป็นอิสระเป็นประเด็นที่มีความยุ่งยากในการพิจารณาจัดเก็บภาษีตามกฎหมายภายในประเทศไทยและยิ่งเผชิญความซับซ้อนยิ่งขึ้นเมื่อต้องพิจารณาประกอบกับอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ ระหว่างประเทศ บทความนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีถิ่นที่อยู่ต่างประเทศและเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้ประมวลรัษฎากรไทยและการบังคับใช้อนุสัญญาภาษีซ้อนฯ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่ชัดเจน และปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายภาษีในปัจจุบัน รวมทั้งเสนอแนะถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านี้
ปัญหาในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามบทบัญญัติในประมวลรัษฎากรของประเทศไทย เริ่มต้นจากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องจำแนกประเภทของเงินได้ตามมาตรา 40 ซึ่งเงินได้ที่บุคคลได้รับนั้นถือเป็นเงินได้ประเภทใดจะไปมีความสัมพันธ์กับเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับกรณีการให้บริการของบุคคลธรรมดานี้หากได้มีการดำเนินการโดยบุคคลที่ไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ซึ่งผู้เสียภาษีจะเผชิญกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติกฎหมายที่ไม่ชัดเจน ในส่วนของอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ บทความนี้จะมุ่งเน้นไปที่ข้อบทที่ 14 เรื่องการให้บริการส่วนบุคคลที่เป็นอิสระตามโครงร่างอนุสัญญาภาษีซ้อนของ UN ซึ่งจะวิเคราะห์ถึงการบังคับใช้และสภาพของปัญหาที่เกิดขึ้น ประกอบกับการเปรียบเทียบการบังคับใช้กับโครงร่างต้นแบบอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ ของ OECD ซึ่งไม่มีข้อบทที่ 14 และจะมีผลย้อนกลับไปให้บังคับใช้ข้อบทที่ 5 เรื่องสถานประกอบการถาวรแทน การศึกษาถึงข้อบทเรื่องการให้บริการส่วนบุคคลที่เป็นอิสระภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อนฯ นี้กล่าวถึงความหมายของคำว่า “ฐานประกอบการประจำ” ที่ยังไม่มีแนวทางการตีความที่ชัดเจนในประเทศไทย รวมทั้งเงื่อนไขและหลักเกณฑ์อื่นที่ปรากฏตามอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ เช่น ประเด็นเรื่องการนับระยะเวลา ประเด็นการตีความบังคับกรณีเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำที่กำหนดไว้
การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับการบังคับจัดเก็บภาษีเงินได้จากการให้บริการส่วนบุคคลที่เป็นอิสระภายใต้กฎหมายรัษฎากรของประเทศไทย และอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ นั้นอาจต้องทำการปรับปรุงกฎหมายและเพิ่มเติมแนวปฏิบัติเพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่มีประสิทธิภาพและลดข้อพิพาทระหว่างประเทศอีกด้วย
Downloads
References
สรรค์ ตันติจัตตานนท์, คําอธิบายกฎหมายภาษีระหว่างประเทศ: ข้อบทเรื่องสถาน ประกอบการถาวรภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อนฯ ประวัติศาสตร์ ทฤษฎีแนวคิด แนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศ, (กรุงเทพมหานคร: ปณณรัช, 2560).
สรรค์ ตันติจัตตานนท์, ข้อบทเรื่อง “กำไรจากธุรกิจ” ภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อน : ปัญหาและแนวปฏิบัติในบริบทกฎหมายไทย, วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปีที่ 52 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2566).
Reimer, E. and Rust, A, Klaus Vogel on Double Taxation Conventions (FOURTH Edition), CPI Group (UK) Ltd., 2015).
Organization for Economic Cooperation and Development, Model Tax Convention on Income and on Capital: Condensed Version 2000, (OECD: OECD Publishing, 2000).
Organization for Economic Cooperation and Development, Model Tax Convention on Income and on Capital: Condensed Version 2017, (OECD: OECD Publishing, 2017).
United Nations, Model Double Taxation Convention between Developed and Developing Countries 1980, (United Nations, 1980).
United Nations, Model Double Taxation Convention between Developed and Developing Countries 2011, (United Nations, 2011).
United Nations, Model Double Taxation Convention between Developed and Developing Countries 2017, (United Nations, 2018).
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2025 วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.