การศึกษาเปรียบเทียบอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์เกี่ยวกับสัตว์ในสำนวนไทยและเยอรมัน
คำสำคัญ:
อุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์, สำนวนไทย, สำนวนเยอรมัน, สำนวนเกี่ยวกับสัตว์บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเปรียบเทียบอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์เกี่ยวกับ “สัตว์” ในสำนวนไทยและเยอรมัน โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ เพื่อระบุชนิดสัตว์ที่ปรากฏทั้งในสำนวนไทยและเยอรมัน เพื่อวิเคราะห์มโนทัศน์ความหมายของสัตว์แต่ละชนิด และเพื่อเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์จากความหมายของสัตว์ที่ใช้ในสำนวนทั้งสองภาษา ผลการศึกษาพบว่าในทั้งสองภาษามี 481 สำนวนที่มีสัตว์ชนิดเดียวกันรวม 27 ชนิด เมื่อนำสำนวนเหล่านี้มาวิเคราะห์อุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์พบมโนทัศน์ความหมาย 14 ประเภท คือ “ลักษณะเชิงลบของมนุษย์” “การกระทำ/การแสดงออก” “สภาพ” “วัตถุ” “ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล” “สิ่งที่เป็นนามธรรมในแง่ดี” “บุคคล” “ลักษณะเฉพาะ” “เพศ” “นิสัย” “สิ่งที่เป็นนามธรรมในแง่ลบ” “ปริมาณ” “เวลา” และ “ลักษณะเชิงบวกของมนุษย์” ในการเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างระหว่างอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์จากความหมายของสัตว์ในสำนวนของทั้งสองภาษาพบว่า กรณีที่สัตว์สะท้อนมโนทัศน์ความหมายแบบเดียวกันในทั้งสองภาษาเกิดจากภาพสะท้อนของลักษณะโดยทั่วไปของสัตว์เหล่านั้นเห็นได้อย่างชัดเจนโดยไม่จำเป็นต้องตีความ ทำให้สำนวนที่ปรากฏสัตว์และมโนทัศน์ความหมายนั้น ๆ เป็นไปตามธรรมชาติ ในขณะที่ความแตกต่างที่พบเกิดจากแนวคิดเฉพาะของสังคมเจ้าของภาษา โดยอาจมีผลจากความเชื่อ วัฒนธรรม วิถีชีวิต รวมถึงอิทธิพลจากวรรณกรรมชื่อดังในท้องถิ่น