การสอนประวัติศาสตร์ การกระตุ้นอารมณ์ – การถ่ายทอดความรู้ด้านประวัติศาสตร์ในแขนงวิชาวัฒนธรรมเยอรมันศึกษาในประเทศไทยโดยใช้สื่อภาพยนตร์
คำสำคัญ:
วัฒนธรรมศึกษา, ภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศ, ภาพยนตร์, วิธีการสอนภาษาต่างประเทศ, การศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยบทคัดย่อ
ประวัติศาสตร์เป็นรายวิชาที่มีการสอนบ่อยครั้งในแขนงวัฒนธรรมเยอรมันศึกษาหรือที่เรียกกันว่า Landeskunde ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยด้วยเช่นกัน บทความนี้ชี้ให้เห็นว่าการสอนประวัติศาสตร์ในแขนงวิชาวัฒนธรรมเยอรมันศึกษาในมหาวิทยาลัยในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นการสอนแบบทฤษฎีปัญญานิยม (Cognitive Approach) ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในภาพรวมโดยเรียงตามลำดับเวลาของเหตุการณ์และมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เชิงประจักษ์แก่ผู้เรียน ซึ่งผู้เขียนจะขอนำเสนอวิธีการสอนประวัติศาสตร์ในอีกรูปแบบหนึ่งที่สอดคล้องกับผลการวิจัยด้านการสอนในปัจจุบัน รูปแบบวิธีการสอนดังกล่าวนี้พัฒนามาจากแนวคิดที่เรียกว่า ABCD Thesen ในขั้นตอนแรก ผู้เขียนขอเสนอวิธีการสอนโดยมุ่งเน้นที่เหตุการณ์เฉพาะทางประวัติศาสตร์เหตุการณ์หนึ่งแทนการให้ข้อมูลแบบปริทัศน์ โดยผู้เขียนจะนำเสนอว่าควรใช้เกณฑ์ใดในการคัดเลือกเหตุการณ์เฉพาะทางประวัติศาสตร์ให้เหมาะสม ซึ่งในกรณีนี้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust) ในขั้นตอนที่สอง ผู้เขียนขอนำเสนอวิธีการจัดการเรียนการสอนที่กระตุ้นอารมณ์และความรู้สึกของผู้เรียนมากกว่าการถ่ายทอดข้อมูลและข้อเท็จจริงแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ ผู้เขียนขอเสนอแนะสื่อในการสอนที่เหมาะสมสำหรับการจัดการเรียนการสอนแบบดังกล่าวอันได้แก่สื่อภาพยนตร์ซึ่งมีศักยภาพในการกระตุ้นอารมณ์และความรู้สึกของผู้เรียน และในขั้นตอนสุดท้าย ผู้เขียนจะยกตัวอย่างการประยุกต์ใช้แนวคิดดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม โดยขอยกตัวอย่างการสอนประวัติศาสตร์ผ่านสื่อภาพยนตร์เรื่อง “Sie heißt jetzt Lotte” ในการสอนเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งผู้เขียนจะนำเสนอกิจกรรมที่สามารถทำในชั่วโมงเรียน ทั้งช่วงก่อนชมภาพยนตร์ ระหว่างชมภาพยนตร์ และหลังชมภาพยนตร์