ความแพร่หลาย และลักษณะเด่นของละครนอกแบบหลวง เรื่องสังข์ทอง ตอน “เลือกคู่-หาปลา” ของกรมศิลปากร

ผู้แต่ง

  • ธันธวัช ปิ่นทอง
  • จินตนา สายทองคำ
  • อัควิทย์ เรืองรอง

คำสำคัญ:

ความแพร่หลาย, ลักษณะเด่น, ละครนอกแบบหลวง, สังข์ทองตอนเลือกคู่-หาปลา

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ (1) ศึกษาความแพร่หลายของละครนอกแบบหลวง เรื่องสังข์ทอง และ (2) ลักษณะเด่นของละครนอกแบบหลวง เรื่องสังข์ทอง ตอนเลือกคู่-หาปลา ของกรมศิลปากร โดยใช้วิธีดำเนินการวิจัยเชิงคุณภาพ วิเคราะห์ข้อมูลจากหนังสือ สูจิบัตร เอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้องจากแหล่งข้อมูลต่างๆ และสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วเรียบเรียงข้อมูลนำเสนอในรูปแบบการพรรณนาวิเคราะห์

            ผลการศึกษาพบว่าความแพร่หลายของวรรณกรรมเรื่องสังข์ทอง เริ่มมีมาแต่โบราณทั้งในรูปแบบของวรรณกรรมมุขปาฐะ แต่เดิมนิทานในปัญญาสชาดก เรื่องสุวรรณสังขชาดก ซึ่งแพร่หลายอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีผู้นำเอานิทานมาแต่งเป็นบทละคร ได้รับความนิยมเรื่อยมาจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 2 ได้ทรงนำนิทานเรื่องสังข์ทองมาพระราชนิพนธ์ขึ้นเป็นบทละครนอก เพื่อนำไปให้ละครผู้หญิงของหลวงในพระองค์แสดง นับว่าเป็นฉบับที่ได้รับความนิยมและแพร่หลาย ภายหลังเรียกการแสดงนี้ว่า ละครนอกแบบหลวง และรูปแบบการแสดงละครนอกแบบหลวง เรื่องสังข์ทองได้ถ่ายทอดมาสู่กรมศิลปากร จากนั้นได้มีการปรับปรุงแล้วแก้ไขใหม่เพื่อให้เหมาะกับการชมในปัจจุบัน ตอนที่นิยมนำมาจัดแสดง คือตอนเลือกคู่-หาปลา ซึ่งเป็นตอนที่มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวในด้านของบทละครที่มีเนื้อหาครบรส มีรูปแบบการแสดงที่สำคัญคือทางเล่นที่กำหนดไว้ตามจารีต มีกระบวนท่ารำงามอย่างละครใน แต่รำกระชับตามบท ประกอบกับดนตรีที่ไพเราะ เพลงร้องมีการผสมผสานระหว่างเพลงทางนอก และเพลงทางใน การแต่งกายยืนเครื่องตามรูปแบบละครใน ประกอบกับฉากที่สมจริง ทำให้ได้รับความนิยมเรื่อยมาถึงปัจจุบัน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-06-03