การวิเคราะห์เปรียบเทียบกลสัทศาสตร์เสียงวรรณยุกต์ในคำลงท้ายของเพศทางเลือก
คำสำคัญ:
เสียงวรรณยุกต์, คำลงท้าย, เพศทางเลือก, กลสัทศาสตร์บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และเปรียบเทียบสัทลักษณะของเสียงวรรณยุกต์ในคำลงท้ายของเพศทางเลือก ด้วยวิธีทางกลสัทศาสตร์ โดยเก็บคำข้อมูลจากผู้บอกภาษาที่เป็นเพศทางเลือก จำนวน 10 คน โดยผู้วิจัยได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ MTF (Male to female) และ FTM (Female to male) กลุ่มละ 5 คน คำลงท้ายจำนวน 5 คำ ได้แก่ คำว่า/làʔ/ (หละ) /rɔ̀k/ (หรอก) /dìʔ/ (ดิ) /náʔ/ (นะ) และ /wáʔ/ (วะ) บันทึกเสียงและวิเคราะห์ข้อมูลเสียงด้วยโปรแกรมพราต (Praat) ผลการศึกษาพบว่า 1) สัทลักษณะของเสียงวรรณยุกต์ในคำลงท้ายทั้ง 5 คำของเพศทางเลือก 2 กลุ่ม มีสัทลักษณะต่างกัน 3 คำลงท้าย คือ คำลงท้าย /làʔ/ /rɔ̀k/ และ /dìʔ/ สัทลักษณะที่ตรงกันพบ 2 คำ คือ คำลงท้าย /náʔ/ และ /wáʔ/ ซึ่งค่าความถี่มูลฐาน คำลงท้ายทุกคำของทั้ง 2 กลุ่ม ไม่มีความต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 2) ค่าพิสัยความถี่มูลฐานของ เสียงวรรณยุกต์ในคำลงท้ายของเพศทางเลือกทั้ง 2 กลุ่ม พบว่าคำลงท้าย /rɔ̀k/ มีค่าพิสัยกว้างที่สุดของทั้ง 2 กลุ่ม เมื่อเปรียบเทียบทุกคำลงท้ายแล้วไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 3) ค่าระยะเวลาของเสียงวรรณยุกต์ในคำลงท้ายของเพศทางเลือกทั้ง 2 กลุ่ม พบว่ากลุ่ม FTM มีค่าระยะเวลามากกว่ากลุ่ม MTF ทุกคำลงท้าย และเมื่อเปรียบทั้ง 2 กลุ่มมีความต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กำหนดระดับนัยสำคัญที่ p<0.05 แสดงให้เห็นว่าปัจจัยด้านเพศมีผลต่อค่าระยะเวลาของเสียงวรรณยุกต์แต่ไม่มีผลต่อค่าความถี่มูลฐานและ ค่าพิสัยความถี่มูลฐาน