สัญญาจัดซื้อจัดจ้างและสัญญาอื่น ๆ (ส่วนที่ 1)
DOI:
https://doi.org/10.14456/mfulj.2020.4คำสำคัญ:
กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, สัมปทานบทคัดย่อ
ประเทศฝรั่งเศสได้จัดทำประมวลกฎหมายการพัสดุขึ้นในปี ค.ศ. 1964 และมีการแก้ไขปรับปรุงมาโดยตลอด ซึ่งกฎหมายนี้สอดคล้องกับระเบียบของสหภาพยุโรปเพื่อให้เป็นไปตามสนธิสัญญาเกี่ยวกับการดำเนินงานของสหภาพยุโรป ที่มุ่งเน้นการเป็นตลาดร่วมของประเทศสมาชิก เปิดโอกาสให้พลเมืองในรัฐสมาชิกของประชาคมยุโรปหรือองค์การการค้าโลกมีสิทธิเข้าร่วมแข่งขันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในรัฐภาคีได้อย่างเท่าเทียมกับพลเมืองของรัฐภาคีนั้น
ต่อมาในปี ค.ศ. 2014 ได้มีการแก้ไขกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างโดยระเบียบปฏิบัติของสหภาพยุโรป และได้ยกเลิกระเบียบเดิมว่าด้วยเรื่องความร่วมมือในกระบวนการมอบสัญญาพัสดุ ซึ่งกฎเกณฑ์ที่แก้ไขใหม่นี้ได้วางบรรทัดฐานและกำหนดหลักเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับประเทศสมาชิกว่าด้วยเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การจัดทำสัญญาการพัสดุมีประสิทธิภาพและยั่งยืนทางสังคม ยกตัวอย่างเช่น มีการกำหนดลักษณะที่จำเป็นสำหรับงานโยธาสาธารณะ การให้บริการ และการจัดหาพัสดุ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของความยั่งยืนทางสังคม จึงมีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของความปลอดภัย วิธีการประเมินคุณภาพของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ข้อแนะนำการใช้งานต่าง ๆ
นอกเหนือจากการกำหนดกฎเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้เกิดความยั่งยืนแล้วนั้น ระเบียบปฏิบัติของสหภาพยุโรปได้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อให้บริษัทขนาดกลางหรือขนาดย่อมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการรับจ้างช่วงโดยได้ริเริ่มหลักความรับผิดชอบตลอดสายของการจ้างช่วง เพื่อให้ทุกช่วงรับผิดชอบในการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน สุขภาพ และความปลอดภัยของคนทำงาน และกฎหมายแรงงานที่บังคับใช้อยู่ ณ ขณะปัจจุบัน เพราะในบางครั้งเกิดกรณีที่ผู้ยื่นซองประกวดราคายื่นเสนอราคาที่ต่ำกว่าปกติ อันเนื่องมาจากการไม่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานในเรื่องแรงงานที่ทำให้ค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการทางด้านเศรษฐกิจต่ำกว่าผู้ประกอบการรายอื่นและส่งผลให้การพัสดุนั้น ๆ ไม่มีคุณภาพ
ภายหลังการออกกฎเกณฑ์ของสหภาพยุโรปในปี ค.ศ. 2014 ประเทศฝรั่งเศสก็ได้อนุวัติกฎหมายให้เป็นไปตามระเบียบดังกล่าวโดยการออกรัฐกำหนดว่าด้วยเรื่องการพัสดุในปี ค.ศ. 2015 และรัฐกำหนดว่าด้วยเรื่องสัญญาสัมปทานในปี ค.ศ. 2016 ตามลำดับ และเป็นสิ่งที่นำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้บังคับในปัจจุบัน และได้ยกเลิกประมวลกฎหมายการพัสดุที่ใช้มาดั้งเดิม การแก้ไขปรับปรุงนี้เป็นไปเพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีความง่ายและชัดเจนมากขึ้น โดยประมวลกฎหมายฉบับนี้เป็นการรวมเนื้อหาที่ผู้มีอำนาจจัดซื้อและผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจใช้ในชีวิตประจำวันของการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงกฎเกณฑ์หลักและแนวคำพิพากษาของศาลปกครอง
ในบทความฉบับนี้ผู้เขียนได้แปลกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้บังคับในปัจจุบัน โดยได้แบ่งออกเป็น 4 ส่วนดังนี้
- ส่วนที่หนึ่งจะเป็นการอธิบายคำนิยามโดยทั่วไป และองค์กรที่จะตกอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง
- ส่วนที่สองว่าด้วยวัตถุประสงค์ของสัญญาที่อยู่ในกรอบของประมวลกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง ลักษณะของสัญญาประเภทต่าง ๆ
- ส่วนที่สามจะพูดถึงเรื่องของสัญญาสัมปทานภายใต้ประมวลกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง
- ส่วนสุดท้ายจะอธิบายถึงลักษณะของสัญญาที่มิได้ใช้กฎเกณฑ์ของการจัดซื้อจัดจ้าง
Downloads
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2020 วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.