แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
DOI:
https://doi.org/10.14456/mfulj.2019.1คำสำคัญ:
รัฐธรรมนูญนิยม, ประชาธิปไตย, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบทคัดย่อ
แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมถือเป็นหลักการสำคัญของการตรารัฐธรรมนูญในประเทศที่มีการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดรูปแบบการปกครองและกำหนดกลไกอันเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการจัดองค์กรบริหารของรัฐ ตลอดจนจำกัดอำนาจรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตลอดจนการเสริมสร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพให้กับรัฐบาล หากรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามหลักรัฐธรรมนูญนิยมเสียแล้ว กลไกของระบอบประชาธิปไตยย่อมไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อพิจารณาบริบททางการเมืองและสังคมท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยตลอดระยะเวลาภายหลังการรัฐประหารตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา พบว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แม้จะมีบทบัญญัติที่รองรับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนแต่ยังไม่ชัดเจนและเพียงพอที่จะเป็นหลักประกันมิให้มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และการใช้อำนาจขององค์กรของรัฐอื่น ทั้งยังมิได้รับรองแนวคิดเรื่องความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญตามทฤษฎีสัญญาประชาคม การแบ่งแยกอำนาจ การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มิได้นำแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมมาบัญญัติเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศแต่ประการใด ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลกระทบถึงร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการทำให้การรัฐประหาร บรรดาประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อีกทั้งแม้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะถูกวางกรอบไว้โดยมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แต่ก็มิได้เป็นไปตามแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม ทั้งยังจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งก่อความเสียหายต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย
Downloads
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2019 วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.