จริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการ

       วารสารจีนวิทยาและการศึกษาภาษาจีนนานาชาติ จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีด้านวัฒนธรรมระหว่างไทย จีน และนานาอารยธรรมประเทศทั่วโลก ผ่านการแลกเปลี่ยนผลการศึกษาและวิจัยในด้านต่าง ๆ ดังนั้นเพื่อให้การเผยแพร่เป็นไปอย่างถูกต้อง มีคุณภาพ โปร่งใส และสอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล วารสารจีนวิทยาและการศึกษาภาษาจีนนานาชาติจึงได้กำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติ และจริยธรรมการตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิจัยและบทความวิชาการ โดยได้กำหนดบทบาทสำหรับผู้นิพนธ์ (authors) บรรณาธิการวารสาร (editor) และผู้ประเมินบทความ (reviewers) ไว้เพื่อให้ศึกษาและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อประโยชน์ต่อผู้อ่านและแวดวงวิชาการต่อไป

บทบาทหน้าที่ของผู้นิพนธ์

  1. ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าผลงานของตนเองที่ส่งมานั้นเป็นผลงานใหม่ ไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน และไม่อยู่ในระหว่างการเสนอเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่น
  2. ผู้นิพนธ์ต้องรับรองข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย ไม่บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
  3. ผู้นิพนธ์ที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคน ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในการดำเนินการวิจัยจริง
  4. ผู้นิพนธ์ต้องเขียนบทความวิจัยให้ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนดไว้ใน “คำแนะนำผู้นิพนธ์”
  5. ผู้นิพนธ์ต้องมีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลทุกครั้งที่มีการนำผลงานของผู้อื่นหรือผลงานของตนเองมาใช้ และจัดทำรายการอ้างอิงท้ายบทความ
  6. ผู้นิพนธ์ต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการวิจัยนี้ (ถ้ามี)
  7. ผู้นิพนธ์ต้องตรวจสอบว่าเนื้อหาในบทความไม่ได้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือสร้างความเสื่อมเสียให้กับบุคคล องค์กร สถาบัน ชุมชน และสังคม

บทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร

  1. บรรณาธิการต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกระบวนการ และขั้นตอนต่าง ๆ ของวารสารฯ อย่างเคร่งครัด
  2. บรรณาธิการวารสารมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความ และคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว โดยพิจารณาจากความสำคัญ ความใหม่ ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารตามที่เป็นที่ยอมรับในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องในระดับสากล
  3. บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบบทความในด้านการคัดลอกผลงานของผู้อื่น (plagiarism) อย่างจริงจัง เพื่อให้แน่ใจว่าบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารไม่มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น หากตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น บรรณาธิการจะหยุดกระบวนการประเมิน และติดต่อผู้นิพนธ์เพื่อขอคำชี้แจงมาประกอบการ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้น
  4. บรรณาธิการจะไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์ และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
  5. บรรณาธิการต้องไม่ปิดกั้น ปรับเปลี่ยน ดัดแปลงผลการพิจารณาแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความกับผู้นิพนธ์
  6. บรรณาธิการไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ ผู้ประเมิน และทีมผู้บริหาร

บทบาทหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ

  1. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาแก่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
  2. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์ หากพิจารณาแล้วว่าตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ควรแจ้งให้แจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้นๆ
  3. ผู้ทรงคุณวุฒิผู้ประเมินบทความควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่จะรับประเมินอย่างแท้จริง โดยพิจารณาความสำคัญของเนื้อหา คุณภาพของผลงาน การวิเคราะห์และความเข้มข้นของผลงาน ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความไม่ควรใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความวิจัย
  4. ผู้ทรงคุณวุฒิผู้ประเมินบทความต้องรักษาขอบเขตระยะเวลาที่ใช้ประเมินไม่ควรเกินกำหนด
  5. ผู้ทรงคุณวุฒิผู้ประเมินบทความต้องไม่แสวงประโยชน์จากผลงานที่ประเมิน
  6. ผู้ทรงคุณวุฒิผู้ประเมินบทความ หากพบว่ามีส่วนใดของบทความที่มีความเหมือนหรือซ้ำซ้อนกับผลงานเรื่องอื่น ๆ ต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ