คติความเชื่อพุทธปรัชญาที่ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนัง
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคติความเชื่อพุทธปรัชญาที่ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนัง ภาพจิตรกรรมไทยโบราณสะท้อนให้เห็น สภาพความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมของคนในอดีต บันทึกไว้ซึ่งลักษณะชีวิตของท้องถิ่น วัฒนธรรมขนบประเพณีของสังคมในสมัยนั้นๆภาพเขียนจิตรกรรมจึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับจารึกที่บันทึกด้วยอักษรเพื่อบันทึกเหตุการณ์ ภาพเขียนให้ความรู้สึกที่พิเศษบรรยายให้เกิดมโนภาพได้อย่างกว้างขวาง มีคุณค่าและคุณประโยชน์ เป็นความงดงามทางสุนทรียภาพที่ประสานกลมกลืนกันในการจัดองค์ประกอบที่สัมพันธ์กันระหว่างเส้นกับสี เป็นลักษณะเฉพาะของศิลปกรรมไทยซึ่งมีความอ่อนช้อย ทำให้เกิดความรู้สึกชื่นชม เบิกบานใจ จิตรกรรมไทยมีรูปแบบวิธีการที่มีลักษณะเฉพาะของตนไม่เหมือนจิตรกรรมของชนชาติใด เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยอย่างหนึ่ง พระพุทธศาสนามีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยดังปรากฏในวรรณคดี เรื่อง “เตภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” ที่พระมหาธรรมราชาลิไทยทรงพระราชนิพนธ์เพื่อปลูกฝังศรัทธาในศาสนาแก่ประชาชน โดยใช้อบรมจิตสำนึกของประชาชนในการทำกรรมดีละเว้นกรรมชั่ว จนเกิดเป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทยในเรื่องการทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล ตลอดจนทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ไตรภูมิได้รับการถ่ายทอดเป็นรูปธรรมด้วยการวาดภาพเป็นจิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์และวิหารเป็นสื่อปลูกฝังความเชื่อเรื่องสวรรค์และกรรม ความเชื่อเรื่องกรรมมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต ผู้ที่ทำกรรมดีมีเป้าหมายของชีวิตที่ดีในชาติต่อไปหรือการได้ขึ้นสวรรค์ไปสู่ภพภูมิที่ดีขึ้น การดับทุกข์ ละกิเลส และบรรลุถึงซึ่งพระนิพพาน