ผลกระทบจากการเลือกใช้มาตรการผ่อนปรนทางบัญชีเนื่องจาก สถานการณ์ Covid-19 และปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกใช้มาตรการในปี 2563

Main Article Content

บริพัตร หมื่นศรี
ดร.พรปรวีณ์ ชาญสุวรรณ

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบและปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกใช้มาตรการปรนทางบัญชีเนื่องจากสถานการณ์ Covid-19 ที่ประกาศใช้ในปี 2563 โดยรวบรวมข้อมูลจากงบการเงินของบริษัท ประชากรที่ใช้ คือ บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หมวดบริษัทที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูการดำเนินงาน บริษัทที่มีข้อมูลไม่ครบถ้วนและบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 551 บริษัท และกลุ่มตัวอย่าง คือ บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ใช้มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีมีทั้งสิ้น 343 บริษัท ซึ่งบริษัทที่เลือกใช้มาตรการผ่อนปรนจะเปิดเผยข้อมูลชัดเจนในหมายเหตุประกอบงบการเงินว่า เลือกใช้มาตรการผ่อนสำหรับมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับใดบ้าง ตามแนวทางปฏิบัติทางการบัญชี ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลโดยพิจารณาการกระจายของข้อมูลและเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของรายการทางการเงินก่อนและหลังการใช้ มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวดังกล่าว ว่าแตกต่างอย่างมีสาระสำคัญหรือไม่ โดยใช้การเปรียบเทียบรายคู่ สถิติที่ใช้ได้แก่สถิติเชิงพรรณนาตามอัตราส่วนทางการเงินที่มีค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของงบการเงิน 2561-2564, สถิติเชิงอนุมาน โดยใช้การทดสอบ เป็นการทดสอบความแตกต่างของอัตราส่วนขนาดของบริษัทก่อนและหลังการใช้ มาตรการผ่อนปรน และการวิเคราะห์สมการถดถอยเชิงพหุคูณ


   ผลการวิจัยจากการทดสอบ Paired Sample t-Test พบว่า ผลกระทบและปัจจัยส่งผลต่อการเบือกใช้มาตรการปรนทางบัญชีในด้านอัตราส่วนค่าเฉลี่ยของสินทรัพย์รวมต่อจำนวนทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วของบริษัทก่อนและหลังการใช้มาตรการผ่อนปรนฯ แตกต่างกัน โดยที่ค่าเฉลี่ยอัตราส่วนของสินทรัพย์สูงขึ้นหลังการใช้มาตรการผ่อนปรนฯ ระดับนัยสำคัญที่ 0.05 และผลจากการทดสอบวิเคราะห์สมการถดถอย พบว่า ขนาดของบริษัท ความสามารถในการทำกำไรและการเปิดเผยมาตรการผ่อนปรนฯในหมายเหตุประกอบงบการเงินมีความสัมพันธ์ต่อการเลือกใช้มาตรการผ่อนปรนฯ ที่ระดับนัยสำคัญที่ 0.05

Article Details

บท
บทความวิจัย