นวัตกรรมสังคมเพื่อการสนับสนุนเกษตรกรของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
Main Article Content
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อศึกษาบริบท สภาวะการณ์ องค์ประกอบ และปัจจัยในการพัฒนาเกษตรกรของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 2) เพื่อศึกษานวัตกรรมสังคมเพื่อการสนับสนุนเกษตรกร และ 3) เพื่อเสนอแนวทางการจัดการภาครัฐเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร โดยเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพด้วยศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่ม ผู้ให้ข้อมูลหลักได้แก่ เลขาธิการ รองเลขาธิการ ผู้อำนวยการภาค เจ้าหน้าที่กองทุนสาขาจังหวัดและเกษตรกรสมาชิก รวมทั้งนักวิชาการ จำนวนรวม 81 คน ผลการศึกษาพบว่า กองทุนฯ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูฯ คือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยซื้อหนี้และหลักทรัพย์จำนองของเกษตรกรจากสถาบันการเงินต่างๆ มาเป็นของกองทุนฯ แล้วให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้กองทุนฯ โดยไม่มีดอกเบี้ย ทำให้เกษตรกรสมาชิกไม่สูญเสียที่ดินทำกินและได้รับการส่งเสริมอาชีพและเกิดการรวมตัวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรผ่านกิจกรรมโครงการ นวัตกรรมสังคมที่เป็นข้อค้นพบของงานวิจัยคือ การรวมกลุ่มองค์กรเกษตรกร การจัดการฟื้นฟูอาชีพของกลุ่มตนเอง การช่วยเหลือคนชายขอบ และยังเป็นการช่วยเหลือปัญหาทางสังคม ปัญหาและอุปสรรคคือ โครงสร้างการบริหารงานของกองทุนฯ ทั้งบุคลากร งบประมาณและทรัพยากรต่างๆ ที่ค่อนข้างซับซ้อนและมีขั้นตอนยุ่งยากและเป็นรัฐราชการมากเกินไป อีกทั้งนโยบายและเจตนารมณ์ที่ไม่ชัดเจน การเล่นพรรคพวกขององค์กรเกษตรกร รวมทั้งการรวมกลุ่มขององค์กรเกษตรกรยังไม่เป็นจริง ซึ่งควรเป็นการปฏิรูปโครงสร้างองค์กรทั้งระบบโดยเน้นไปที่การบริหารงานบนฐานความยืดหยุ่น ความโปร่งใสมีธรรมาภิบาล และส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็งเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรที่ดีขึ้น