การสร้างความหมายใหม่ของวัดไทยในสังคมร่วมสมัย : กรณีศึกษาวัดภูเก็ตจังหวัดน่าน
Main Article Content
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางการสร้างความหมายใหม่และการบริหารจัดการใหม่ให้กับวัดไทยและชุมชนแวดล้อมเพื่อความร่วมสมัย ผลการศึกษาพบว่า วัดภูเก็ต อำเภอปัว จังหวัดน่านมีการสร้างความหมายใหม่ในบทบาทของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนา ผ่านกระบวนการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ (Rebranding) โดยมีองค์ประกอบในการสร้างความหมายใหม่ในรูปแบบของโรงแรมธรรมะ (Temple stay) และกระบวนการบริหารจัดการในรูปแบบแหล่งท่องเที่ยว ที่มีชุมชนเป็นผู้มีส่วนร่วมยังก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่าง บ้าน-วัด-ชุมชน ทำให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนในด้านเศรษฐกิจ (Economy) สังคม (Social) และสิ่งแวดล้อม (Environment) กระบวนการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของวัดภูเก็ต ในรูปแบบของแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนา ทั้งที่เป็นกระบวนการทางความคิด การสร้างโอกาส โดยการเปิดพื้นที่ทางปัญญาและพื้นที่ทางสังคมให้ในการร่วมคิดร่วมสร้างของคนในสังคมและชุมชน จึงกลายเป็นนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) ที่สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนบ้านเก็ดที่เกิดขึ้นจากโครงสร้าง" (structure) และ "ปรากฏการณ์ที่เกิดจากการกระทำ" (agency) และ "ตัวแสดง" (actor) ที่ร่วมกันผลิตซ้ำการกระทำให้วัดในความหมายใหม่ดำรงอยู่ และดำเนินต่อไป ทั้งยังส่งต่อสืบทอด แนวคิดและวิธีการ ให้วัดในความหมายใหม่ได้รับการยอมรับมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาการดำเนินการที่มีการลงมือปฏิบัติ (action) ร่วมกันของวัดและชุมชน เพื่อความยั่งยืนในสังคมร่วมสมัยต่อไป