การศึกษาเปรียบเทียบแบบเรียนภาษาบาลี บาลีไวยากรณ์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส กับ มูลน้อยอาศัยมูลใหญ่ของสมเด็จพระวันรัต (ฑิต)
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์การลำดับเนื้อหา เนื้อหา และเทคนิคการอธิบายในหนังสือแบบเรียนไวยากรณ์บาลี 2 เล่มซึ่งแต่งเป็นภาษาไทย ได้แก่ บาลีไวยากรณ์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และมูลน้อยอาศัยมูลใหญ่ของสมเด็จพระวันรัต (ฑิต) และเพื่อเปรียบเทียบหนังสือทั้งสองเล่มในภาพรวม ผลการศึกษาพบว่า ผลการศึกษาพบว่า แบบเรียนทั้งสองเล่มมีความเหมือนกันเนื่องจากการยึดคัมภีร์มูลกัจจายน์ การใช้ตารางในการแสดงรูปสำเร็จของนามและกิริยา และตัวอย่างของศัพท์และบทที่แสดง แต่ความแตกต่างสำคัญที่ทำให้ผู้วิจัยสันนิษฐานว่าไม่น่าจะเป็นการคัดลอกกัน ได้แก่ การลำดับเนื้อหา สมัญญาภิธาน และการอ้างอิงสูตรในมูลกัจจายน์ในการทำตัวรูป บาลีไวยากรณ์มีการลำดับเนื้อหาตามคัมภีร์มูลกัจจายน์ มีการเพิ่มหัวข้อสมัญญาภิธานซึ่งไม่ปรากฏในคัมภีร์มูลกัจจายน์ และไม่อ้างถึงสูตรในมูลกัจจายน์ ส่วนมูลน้อยอาศัยมูลใหญ่มีการลำดับเนื้อหาตามคัมภีร์สัททพินทุ แยกหัวข้อกิริยากิตก์โดยลำดับหลังอาขยาตเพื่อให้ผู้เรียนซึ่งเรียนจบเรื่องนามและกิริยา สามารถฝึกแปลได้ทันที ไม่มีหัวข้อสมัญญาภิธาน และยังคงอ้างถึงสูตรในมูลกัจจายน์ที่สำคัญ ในภาพรวม บาลีไวยากรณ์มีความสม่ำเสมอของเนื้อหา ศัพท์ทางไวยากรณ์ ตัวอย่างภาษาบาลีและคำแปล คำอธิบาย ซึ่งมีความเป็นแบบเรียนสมัยใหม่มากกว่า