แนวทางการบริหารงานวิชาการตามหลักธรรมาภิบาลของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพระนครศรีอยุธยา
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพและปัญหาการบริหารงานวิชาการตามหลักธรรมาภิบาลของผู้บริหารสถานศึกษา และ 2) นำเสนอแนวทางการบริหาร งานวิชาการตามหลักธรรมาภิบาลของผู้บริหารสถานศึกษา เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน มีวิธีดำเนินการวิจัย 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาสภาพและปัญหาการบริหารงานวิชาการตามหลักธรรมาภิบาลของผู้บริหารสถานศึกษา กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้บริหารสถานศึกษา และครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพระนครศรีอยุธยา 297 คน ซึ่งได้มาด้วยวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามด้านสภาพการบริหารงานวิชาการตามหลักธรรมาภิบาลของผู้บริหารสถานศึกษา มีค่าความเชื่อมั่น 0.97 และด้านปัญหาการบริหารงานวิชาการตามหลักธรรมาภิบาลของผู้บริหารสถานศึกษา มีค่าความเชื่อมั่น 0.99 และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ขั้นตอนที่ 2 นำเสนอแนวทางการบริหารงานวิชาการตามหลักธรรมาภิบาลของผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ให้ข้อมูลหลัก ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 5 คน ได้มาด้วยวิธีการเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง และวิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า 1) สภาพการบริหารงานวิชาการตามหลักธรรมาภิบาล ของผู้บริหารสถานศึกษา โดยภาพรวม มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านการพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษา รองลงมา คือ ด้านการจัดการเรียนการสอน และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านการวัดผล ประเมินผล และปัญหาการบริหารงานวิชาการตามหลักธรรมาภิบาลของผู้บริหารสถานศึกษา โดยภาพรวม มีปัญหาอยู่ในระดับน้อย ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านการพัฒนาและใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา รองลงมา คือ ด้านการจัดการเรียนการสอน และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านการวัดผล ประเมินผล และ 2) แนวทางการบริหารงานวิชาการตามหลักธรรมาภิบาลของผู้บริหารสถานศึกษา ประกอบด้วยรายการปฏิบัติ 25 รายการ จำแนกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 2.1) ด้านการพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษา มีรายการปฏิบัติ 7 รายการ เช่น ผู้บริหารสถานศึกษาควรกำหนดนโยบาย และเป้าหมายในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาอย่างชัดเจน เพื่อแยกแยะว่างานส่วนใดจะมอบให้ครูและบุคลากรคนใดรับผิดชอบ 2.2) ด้านการจัดการเรียนการสอน มีรายการปฏิบัติ 5 รายการ เช่น ผู้บริหารสถานศึกษาควรมอบหมายงานสอนที่ตรงกับความรู้ ความสามารถของครู 2.3) ด้านการวัดผล ประเมินผล มีรายการปฏิบัติ 4 รายการ เช่น ผู้บริหารสถานศึกษาควรจัดประชุมเพื่อเปิดโอกาสให้ครูและบุคลากรร่วมกันรับรู้ปัญหา แสดงความคิดเห็น คิดแก้ไขปัญหา เกี่ยวกับการวัดผล ประเมินผลของนักเรียน 2.4) ด้านการนิเทศการศึกษา มีรายการปฏิบัติ 4 รายการ เช่น ผู้บริหารสถานศึกษาควรศึกษากฎ ระเบียบ ข้อบังคับ รวมไปถึงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการนิเทศการศึกษา และ 2.5) ด้านการพัฒนาและใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา มีรายการปฏิบัติ 5 รายการ เช่น ผู้บริหารสถานศึกษาควรศึกษากฎระเบียบทางราชการในการจัดหาสื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา