แนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการเหตุกราดยิงในชุมชนของตำรวจ : กรณีศึกษาเหตุกราดยิงโคราช
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการเหตุกราดยิงในชุมชนของตำรวจกรณีศึกษาเหตุกราดยิงโคราช ทั้งในมุมมองของตำรวจและประชาชน โดยศึกษาขั้นตอนการจัดการหลังเกิดเหตุกราดยิงโคราช เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการค้นคว้าเชิงเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มตัวอย่างที่มีความรู้และประสบการณ์หรือมีความรู้ในด้านบริหารจัดการเหตุวิกฤตต่าง ๆ ด้านการตอบสนองเหตุกราดยิงและผู้ที่เผชิญเหตุกราดยิงโคราช ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับบริหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับปฏิบัติการจากหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 7 ราย กลุ่มประชาชน คือ ผู้มีผู้ติดตามในสื่อสังคมออนไลน์ จำนวน 2 ราย นักพัฒนาธุรกิจด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยสาธารณะ จำนวน 1 ราย นักวิชาการด้านอาชญาวิทยาและ
ความปลอดภัยสาธารณะ จำนวน 1 ราย รวมจำนวนทั้งสิ้น 11 ราย ด้วยวิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก โดยมีแบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า แนวทางการพัฒนาการจัดการเหตุกราดยิงในชุมชน ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่
1) ด้านบุคลากร คือ การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยุให้มีความชำนาญในการจัดการข้อมูลในสถานการณ์ฉุกเฉินและให้การฝึกอบรมข้าราชการตำรวจระดับผู้บริหารให้มีความชำนาญในเรื่องของการให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน รวมถึงการจัดให้มีการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ 2) ด้านกระบวนการทำงาน คือ การเขียน คู่มือการปฏิบัติงานแก่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์วิทยุสื่อสาร รวมไปถึงการให้อำนาจแก่ตำรวจในระดับปฏิบัติการที่อยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในการตัดสินใจหรือสั่งการได้และการกระจายข้อมูลข่าวสารโดยไม่ต้องรอการตัดสินใจจากผู้บังคับบัญชา 3) ด้านเทคโนโลยี คือ การจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานสื่อสังคมออนไลน์ให้มีความพร้อม เช่น การมีบัญชีเฟสบุ๊คของสถานีตำรวจที่มีความเคลื่อนไหวอยู่เสมอ มีผู้ติดตามเป็นประชาชนในพื้นที่ การให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการเอาตัวรอดจากเหตุกราดยิงและการจัดตั้งเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ภาคประชาชนและเอกชนเพื่อเตรียมความพร้อมในการกระจายข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเหตุกราดยิง 4) ด้านกฎหมาย คือ การมีระเบียบปฏิบัติในการขอความร่วมมือภาคประชาชน เอกชน สื่อมวลชนในพื้นที่ในการกระจายข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเหตุกราดยิง เช่น บันทึกความร่วมมือระหว่างตำรวจและเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ภาคประชาชนและเอกชนที่อนุญาตให้โฆษกตำรวจประจำจังหวัดและโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติร้องขอให้เครือข่ายโพสต์ภาพหรือข้อความที่เกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้น