วิถีของชาวนาไทยและการตื่นรู้ของชาวนาอินทรีย์ในประเทศไทย
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาอำนาจที่มีผลต่อวิถีของชาวนาไทย 2) เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงวิถีของชาวนาไปสู่การตื่นรู้ของชาวนาเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย โดยเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ จากการศึกษาเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึกในสนามจากผู้ให้ข้อมูลหลักผ่านตัวแทนทั้งหมด 5 สาขา ได้แก่ 1) เครือข่ายชาวนาอินทรีย์จังหวัดยโสธรและจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 3 กลุ่ม 2) ภาคประชาสังคม จำนวน 6 กลุ่ม 3) ผู้ประกอบการแปรรูปข้าว จำนวน 1 กลุ่ม 4) ผู้ส่งออกข้าวอินทรีย์ไปต่างประเทศ จำนวน 1 กลุ่ม 5) ภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่รัฐและอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 3 กลุ่ม โดยสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลักทั้งหมดจำนวน 21 คน
ผลการศึกษาพบว่า 1) อำนาจที่มีผลต่อวิถีของชาวนาไทย เกิดจากการใช้อำนาจการผลิตมาจัดกระทำในทุกมิติของการทำนา และวิถีของเกษตรอินทรีย์ก็รวมอยู่ในนั้นด้วย ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของประวัติศาสตร์ การปฏิวัติเขียว การจัดการพันธุ์ข้าวของรัฐ การจัดการทรัพยากรที่ดิน แหล่งน้ำ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวใช้อำนาจผ่านนโยบายทางเศรษฐกิจ การเมือง และการเมืองระหว่างประเทศ เป็นผู้จัดการอำนาจในภาคการเกษตรในประเทศไทย จากการใช้อำนาจของรัฐบาลในด้านการเกษตรส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันตลาดเสรี การกระตุ้นเรื่องการบริโภค การเปลี่ยนพันธุ์ข้าวเป็นพันธุ์ข้าวจากสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) จากการผลักดันของรัฐ เกษตรกรไทยจึงหันมาทำการเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อการส่งออกมากกว่าความต้องการด้านอาหาร หรือการพัฒนาความรู้หรือภูมิปัญญาดั้งเดิมด้านการทำนาและด้านการเกษตร รัฐส่งเสริมให้ชาวนาเน้นการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรมมากกว่าการพัฒนาความรู้เกษตรกรรมแบบไร้สารเคมีให้แข็งแกร่งขึ้น
2) ปัญหาหนี้สินและปัญหาสุขภาพเป็นปัญหาหนักที่ทำให้ชาวนาเกษตรอินทรีย์เกิดการตื่นรู้และเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตแบบใช้สารเคมีมาสู่เกษตรอินทรีย์เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาและหาทางออก โดยปัจจัยสำคัญต่อความสามารถในการพึ่งตนเองและทรัพยากรที่สามารถหาได้จากสภาพแวดล้อม การทำนาในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์มีอยู่ 3 ปัจจัย ได้แก่ 1) การบริหารทรัพยากรดิน น้ำ พันธุ์ข้าว 2) ตลาดค้าข้าวที่มีความเป็นธรรม และ 3) องค์ความรู้ของชาวนา การที่ชาวนามีองค์ความรู้ระบบเกษตรอินทรีย์เป็นการคัดคุณภาพของเกษตรกร เกษตรกรที่ทำอินทรีย์ได้ มักเป็นเกษตรกรที่มีความรู้ระดับแนวหน้า เป็นคนที่เอาใจใส่ พิถีพิถัน ทำด้วยความรู้ความเข้าใจ แสดงให้เห็นว่าการทำเกษตรอินทรีย์ต้องมีองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์และเกษตรเคมี เพียงแต่เกษตรอินทรีย์ต้องอาศัยเอาใจใส่มากกว่า โดยเฉพาะด้านสุขภาพ เพราะเกษตรเคมีทำให้เสียสุขภาพในระยะยาว ถึงแม้จะมีรายได้แต่เงินสะสมก็ต้องนำมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล เกษตรกรเกิดการตื่นรู้และตระหนักว่า หากยังฝืนผลิตในระบบเกษตรเคมี สุดท้ายจะเห็นได้ว่า ผู้เสียชีวิตในชุมชนส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ดังนั้น การทำเกษตรอินทรีย์จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน ความเจ็บป่วยเพราะสารเคมีในเลือดลดลง และทำให้ระบบนิเวศดีขึ้น เกษตรอินทรีย์จึงเป็นทางออกของเกษตรกรไทย