ผู้บริโภคคือผู้กำหนดตลาดค้าข้าวอินทรีย์ในประเทศไทยและตลาดส่งออกต่างประเทศ
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาตลาดค้าข้าวอินทรีย์ในประเทศไทย และตลาดส่งออกต่างประเทศ 2) เพื่อศึกษาทางอยู่รอดของชาวนาเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย โดยเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ จากการศึกษาเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึกในสนามจากผู้ให้ข้อมูลหลักผ่านตัวแทนทั้งหมด 5 สาขา ได้แก่ 1) เครือข่ายชาวนาอินทรีย์จังหวัดยโสธรและจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 3 กลุ่ม 2) ภาคประชาสังคม จำนวน 6 กลุ่ม 3) ผู้ประกอบการแปรรูปข้าว จำนวน 1 กลุ่ม 4) ผู้ส่งออกข้าวอินทรีย์ไปต่างประเทศ จำนวน 1 กลุ่ม 5) ภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่รัฐและอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 3 กลุ่ม โดยสัมภาษณ์ทั้งหมดจำนวน 21 ผู้ให้ข้อมูลหลัก
ผลการศึกษาพบว่า 1) ตลาดค้าข้าวอินทรีย์ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจของชาวนา ทำให้ชาวนาเกษตรอินทรีย์สามารถอยู่รอดได้ทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม ข้าวอินทรีย์จำเป็นต้องมีทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศจึงจะทำให้ชาวนาอินทรีย์อยู่รอดได้ในระบบเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันตลาดหลักของข้าวอินทรีย์เป็นตลาดต่างประเทศ ตลาดในประเทศนั้นเป็นข้าวอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานรองลงมา ตลาดเกษตรอินทรีย์ส่งออกต่างประเทศ มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แต่ละปีอาจมีทิศทางขึ้นหรือลง เพราะความต้องการแต่ละช่วงเวลาแตกต่างกัน จึงต้องมีการพูดคุยกับลูกค้าถึงแนวโน้มของตลาดว่าต้องเพิ่มหรือลดสินค้าอย่างไร 2) ผู้บริโภคเป็นคนที่จะเปลี่ยนแปลงเกษตรกร หากผู้บริโภคตื่นตัวและต้องการซื้อสินค้าอินทรีย์ เกษตรกรก็จะผลิตสินค้าออกมา แต่ผู้บริโภคต้องการผักสวยงาม ไม่มีแมลงเจาะ เขาจึงจำเป็นต้องใช้สารเคมี แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจหรือตื่นตัวในเรื่องการบริโภคอาหารปลอดภัยค่อนข้างน้อย จึงทำให้ตลาดเกษตรอินทรีย์เติบโตช้า เพราะขาดการตระหนักรู้ด้านความปลอดภัย และหมอไม่สามารถยืนยันได้ว่าการเสียชีวิตในประเทศไทยโดยเฉพาะโรค NCDs มีสาเหตุมาจากอาหารที่รับประทานทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมี ยาฆ่าแมลง ผงชูรส สารสี สารความกรอบ และการตรวจสอบความปลอดภัยในประเทศไทยไม่ค่อยเข้มงวด อาหารที่ขายตลาดนัดตามต่างจังหวัดไม่มีคุณภาพ รวมถึงขนมอบกรอบต่าง ๆ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย