พฤติกรรมภาวะผู้นำของผู้บริหารที่ส่งผลต่อการบริหารงานวิชาการในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 2
Main Article Content
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาพฤติกรรมภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 2 2) เพื่อศึกษาการบริหารงานวิชาการในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 2 3)เพื่อศึกษาพฤติกรรมภาวะผู้นำที่ส่งผลต่อการบริหารงานวิชาการในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 2
กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 2 จำนวน 92 โรงเรียน มีผู้ให้ข้อมูลจำนวน 368 คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน หัวหน้างานการบริหารงานวิชาการ และครูผู้สอนในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 2 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) การทดสอบสมมุติฐาน ใช้การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน (Stepwise multiple regression analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
- 1. การวิเคราะห์พฤติกรรมภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 2 โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน โดยเรียงจากมากไปหาน้อย ดังนี้คือ ด้านการโน้มน้าวจิตใจ ด้านการมีความคิดริเริ่ม ด้านการเข้าสังคมได้ดี ด้านการประสานงานที่ดี ด้านการให้ความช่วยเหลือ ด้านการรู้จักปรับปรุงแก้ไข และด้านการให้การยอมรับนับถือ ตามลำดับ
- การวิเคราะห์ผลการบริหารงานวิชาการในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 2 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน โดยเรียงจากมากไปหาน้อย ดังนี้คือ ด้านการนิเทศการศึกษา ด้านการวัดผล ประเมินผล ด้านดำเนินการเทียบโอนผลการเรียน และด้านการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพ ตามลำดับ
- พฤติกรรมภาวะผู้นำของผู้บริหารที่ส่งผลต่อการบริหารงานวิชาการในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 2 ได้แก่ ด้านการให้ความช่วยเหลือ (X4) ด้านการเข้าสังคมได้ดี (X7) ด้านการรู้จักปรับปรุงแก้ไข (X2) ด้านการมีความคิดริเริ่ม (X1) ด้านการให้การยอมรับนับถือ (X3) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 มีค่าสัมประสิทธิ์ในการทำนายได้ร้อยละ 49 สามารถเขียนการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ในรูปคะแนนดิบ ได้ดังนี้ Ŷtot = 2.873 + .142 (X4) + -.125 (X7) + .188 (X2) + .119 (X1) + .119 (X3) สามารถเขียนการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ในรูปคะแนนมาตรฐาน ได้ดังนี้ = .019 (X4) + .019 (X7) + .021 (X2) + .018 (X1) + .018 (X3)