ความฉลาดในการแก้ไขอุปสรรคของผู้บริหารกับความเป็นองค์กรสมรรถนะสูงของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบ 1) ความฉลาดในการแก้ไขอุปสรรคของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร 2) ความเป็นองค์กรสมรรถนะสูงของสถานศึกษาสังกัดสำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร และ 3) ความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดในการแก้ไขอุปสรรคของผู้บริหารสถานศึกษากับความเป็นองค์กรสมรรถนะสูงของสถานศึกษาสังกัดสำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร จำนวน 86 แห่ง ผู้ให้ข้อมูลสถานศึกษาละ 2 คน ประกอบด้วยผู้อำนวยการหรือรองผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 1 คน และครู จำนวน 1 คน รวมทั้งสิ้น 172 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับความฉลาดในการแก้ไขอุปสรรคของผู้บริหารสถานศึกษา ตามแนวคิด สทอล์ซ และความเป็นองค์กรสมรรถนะสูงของสถานศึกษา ตามแนวคิด ลินเดอร์และบรุคส์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ความถี่ ร้อยละ มัชฌิมเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการวิจัยพบว่า 1. ความฉลาดในการแก้ไขอุปสรรคของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน โดยเรียงลำดับค่ามัชฌิมเลขคณิตจากมากไปหาน้อย ดังนี้ 1) ความสามารถในการรับรู้สาเหตุและความรับผิดชอบ 2) ความสามารถในการอดทนต่อความยืดเยื้อของปัญหา 3) ความสามารถในการควบคุม และ 4) ความสามารถในการรับรู้ขอบเขตผลกระทบของปัญหา ตามลำดับ 2. ความเป็นองค์กรสมรรถนะสูงของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน โดยเรียงลำดับค่ามัชฌิมเลขคณิตจากมากไปหาน้อย ดังนี้ 1) ความกระตือรือร้น 2) การเปิดกว้างและร่วมมือ 3) ความรับผิดชอบ สามารถรายงานและตรวจสอบได้ 4) การสร้างสรรค์นวัตกรรมและมีความยืดหยุ่น 5) มุ่งเน้นผลลัพธ์ และ 6) มุ่งเน้นผู้รับบริการหรือกลุ่มเป้าหมาย ตามลำดับ 3. ความฉลาดในการแก้ไขอุปสรรคของผู้บริหารกับความเป็นองค์กรสมรรถนะสูงของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยเป็นความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับสูง