กระบวนทัศน์การเพิ่มจำนวนนักศึกษา และภาวการณ์มีงานทำ ของบัณฑิตเพื่อพัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา ศาสนาและวัฒนธรรม

Main Article Content

พระมหาวิชิต จันทร์สง่า
พระมหาอนันต์ อันวิเศษ
พระครูสังฆรักษ์สุริยะ สพานทอง
ดร.สิริพร ครองชีพ

บทคัดย่อ

การวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษากระบวนทัศน์การเพิ่มจำนวนนักศึกษา และภาวะการมีงานทำของบัณฑิตเพื่อพัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา ศาสนาและวัฒนธรรม (2) เปรียบเทียบกระบวนทัศน์การเพิ่มจำนวนนักศึกษา และภาวะการมีงานทำของบัณฑิตเพื่อพัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา ศาสนาและวัฒนธรรม จำแนกตามเพศ อายุ ระดับการศึกษา และตำแหน่ง/หน้าที่ (3) ศึกษาข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมกระบวนทัศน์การเพิ่มจำนวนนักศึกษา และภาวะการมีงานทำของบัณฑิตเพื่อพัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา ศาสนาและวัฒนธรรม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่ นักศึกษาระดับปริญญาตรี อาจารย์ประจำหลักสูตร ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศาลายา จังหวัดนครปฐม จำนวน 92 รูป/คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับกระบวนทัศน์การเพิ่มจำนวนนักศึกษา จำนวน 20 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนก (r) ตั้งแต่ .632 ถึง .829 ค่าความเชื่อมั่น โดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟา (Alpha Coefficient)  ตามวิธีของครอนบาค (Cronbach) ได้ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .960 และแบบสอบถามเกี่ยวกับภาวะการมีงานทำของนักศึกษา  จำนวน 20 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนก (r) ตั้งแต่ .444 ถึง .832 ได้ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .952 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย,ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน,การทดสอบสมมุติฐานด้วยการทดสอบค่าที,(t–test,แบบ Independent Samples) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (F – test แบบ One-way ANOVA) และทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่ด้วยวิธีการของเชฟเฟ่ (Scheffe’) และวิเคราะห์เชิงพรรณนา (Descriptive Analysis)


           


ผลการวิจัย พบว่า


  1. กระบวนทัศน์การเพิ่มจำนวนนักศึกษา หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา ศาสนาและวัฒนธรรม  โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง และรายด้าน โดยด้านที่มีความคิดเห็นสูงสุด คือการประชาสัมพันธ์และการสนับสนุนการศึกษา รองลงมาคือกระบวนการให้บริการ ส่วนด้านที่มีความคิดเห็นต่ำสุด คือปัจจัยด้านครอบครัว ภาวะการมีงานทำของบัณฑิตเพื่อพัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา ศาสนาและวัฒนธรรม  โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และรายด้าน โดยด้านที่มีความคิดเห็นสูงสุด คือด้านทักษะทางปัญญา รองลงมาคือด้านความรู้               ส่วนด้านที่มีความคิดเห็นต่ำสุด คือด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และความรับผิดชอบ

  2. ผลการเปรียบเทียบกระบวนทัศน์การเพิ่มจำนวนนักศึกษา และภาวะการมีงานทำของบัณฑิตเพื่อพัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา ศาสนาและวัฒนธรรม จำแนกตามเพศ โดยภาพรวม และรายด้านมีความคิดเห็นไม่แตกต่างกัน เมื่อจำแนกตามอายุ โดยภาพรวมมีความคิดเห็นแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 เมื่อจำแนกตามอายุ ระดับการศึกษา และตำแหน่ง/หน้าที่ โดยภาพรวม และรายด้านมีความคิดเห็นไม่แตกต่างกัน

  3. ข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมกระบวนทัศน์การเพิ่มจำนวนนักศึกษา และภาวะการมีงานทำของบัณฑิตเพื่อพัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา ศาสนาและวัฒนธรรม คือ มหาวิทยาลัยควรมีแนวทางในการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา ศาสนาและวัฒนธรรม โดยเน้นในเรื่องของจุดเด่น ที่สามารถนำไปใช้เพื่อให้เกิดทักษะอย่างน่าสนใจ ทั้งทางสื่อออนไลน์ เว็บไซต์ หรือเครือข่ายศิษย์เก่า เพื่อให้เข้าถึงผู้ที่มีความสนใจในการเข้าศึกษาต่อ ควรมีแนวทางในการสร้างความเชื่อมั่นในสังคม ควรมีแนวทางในการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความต้องการ ความสนใจทางสังคม จุดเด่น และจุดด้อยของมหาวิทยาลัย เพื่อนำมาเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหา นำไปสู่การพัฒนารูปแบบการเพิ่มจำนวนนักศึกษา และภาวะการมีงานทำของบัณฑิต ที่ยั่งยืน ต่อไป

Article Details

บท
บทความวิจัย