ทักษะของผู้บริหารโรงเรียนในศตวรรษที่ 21 กับคุณลักษณะโรงเรียนมาตรฐานสากล ระดับมัธยมศึกษาในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง

Main Article Content

นันทวัน เอรวัล
รศ.ดร.ศักดิพันธ์ ตันวิมลรัตน์

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบ 1) ทักษะของผู้บริหารโรงเรียนในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนมาตรฐานสากลระดับมัธยมศึกษาในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2) คุณลักษณะโรงเรียนมาตรฐานสากล ของโรงเรียนมาตรฐานสากลระดับมัธยมศึกษาในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 3) ความสัมพันธ์ระหว่างทักษะของผู้บริหารโรงเรียนในศตวรรษที่ 21 กับคุณลักษณะโรงเรียนมาตรฐานสากลระดับมัธยมศึกษาในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการยกระดับคุณภาพโรงเรียนสู่มาตรฐานสากลระดับมัธยมศึกษาในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง จำนวน 52 โรง ผู้ให้ข้อมูลโรงเรียนละ 2 คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียนหรือรองผู้อำนวยการโรงเรียน จำนวน 1 คน และ ครู จำนวน 1 คน รวมทั้งสิ้น 104 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับทักษะของผู้บริหารโรงเรียนในศตวรรษที่ 21 ตามแนวคิดของ ฮอลย์ อิงลิช และสเตฟฟี กับคุณลักษณะโรงเรียนมาตรฐานสากลตามแนวคิดของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักมัธยมศึกษาตอนปลาย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ความถี่ร้อยละ มัชฌิมเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน


ผลการวิจัยพบว่า ทักษะของผู้บริหารโรงเรียนในศตวรรษที่ 21 ของผู้บริหารโรงเรียนมาตรฐานสากลระดับมัธยมศึกษาในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาจำแนกตามรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยเรียงลำดับค่ามัชฌิมเลขคณิตจากมากไปหาน้อย ดังนี้ ด้านทักษะด้านการพัฒนาบุคลากร รองลงมา คือ ด้านทักษะด้านวางแผนและพัฒนาหลักสูตร ด้านทักษะด้านนโยบายและธรรมาภิบาล ด้านทักษะด้านการสื่อสารและสัมพันธ์ชุมชน ด้านค่านิยมและจริยธรรมของการเป็นผู้นำ ด้านทักษะด้านการวางแผน การประเมินผล และวิจัยทางการศึกษา  ด้านทักษะด้านการประเมินผลบุคลากรและการบริหารงานบุคคล ด้านทักษะด้านการสร้างวิสัยทัศน์ ด้านทักษะด้านการจัดการองค์กร และด้านทักษะด้านการวางแผนการจัดการเรียนรู้ ตามลำดับ


คุณลักษณะโรงเรียนมาตรฐานสากลของโรงเรียนมาตรฐานสากลระดับมัธยมศึกษาในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาจำแนกตามรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยเรียงลำดับค่ามัชฌิมเลขคณิตจากมากไปหาน้อย ดังนี้ ด้านผู้เรียนมีศักยภาพเป็นพลโลก ด้านการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพ และด้านการจัดการเรียนการสอนเทียบเคียงมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นช่องว่างในการศึกษาที่ยังไม่ได้ทำการศึกษาตามลำดับ


ทักษะของผู้บริหารโรงเรียนในศตวรรษที่ 21 กับคุณลักษณะโรงเรียนมาตรฐานสากลระดับมัธยมศึกษาในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยเป็นความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับปานกลาง

Article Details

บท
บทความวิจัย