ความสัมพันธ์ระหว่างประเพณีผีตาโขนกับพระพุทธศาสนา
Main Article Content
บทคัดย่อ
ประเพณีการละเล่นผีตาโขนในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีความสัมพันธ์กับความศรัทธาของผู้คนที่มีต่อพระพุทธศาสนาและความเชื่อในผีบรรพบุรุษ การละเล่นผีตาโขนมีเฉพาะงานบุญหลวงเป็นประเพณีท้องถิ่นที่รวมเอาประเพณีสองอย่างประจำเดือนต่าง ๆ ในฮีตสิบสองคองสิบสี่ของภาคอีสาน โดยรวม “บุญผะเหวด” หรือ“บุญพระเวสสันดร” ซึ่งนิยมจัดงานขึ้นในเดือนสี่ และบุญบั้งไฟที่นิยมจัดทำในเดือนหกมารวมเข้าด้วยกันไปจัดทำในเดือนแปด การละเล่นผีตาโขนเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรีจะเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมือง บรรดาผีป่าหลายตนอาลัยรักจึงพาแห่แฝงตัวมากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์กลับเมืองจึงเรียกว่า ผีตามคนหรือผีตาขน ต่อมาเพี้ยนมาเป็นผีตาโขน ส่วนบุญบั้งไฟเป็นบุญที่จัดทำขึ้นเพื่อบูชาอารักษ์หลักเมือง เป็นประเพณีทำบุญขอฝน ผนวกกับความเชื่อของคนอำเภอด่านซ้ายที่มีความเชื่อและศรัทธาต่อวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งดลบันดาลให้บ้านเมืองทั้งมีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งช่วงเวลาที่จัดงานประเพณีเป็นช่วงเวลาที่ต้องใช้น้ำในการเริ่มทำนา เพราะเชื่อว่าจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ทำให้ประเพณีบุญหลวง การละเล่นผีตาโขน และบุญบั้งไฟเป็นประเพณีที่สะท้อนถึงความเชื่อความศรัทธาของชาวด่านซ้าย จังหวัดเลย ที่ได้สืบสานและอนุรักษ์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน