เปรียบเทียบเบญจศีลกับกฎหมายที่มีโทษทางอาญา
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) นำเสนอความสำคัญของศีลทั้ง 5 ข้อ และที่มาของศีลทั้ง 5 ข้อตามหลักพระพุทธศาสนา (2) นำเสนอคุณค่าของการรักษาศีล 5 (3) นำเสนอหลักกฎหมายที่มีโทษทางอาญาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำต่างๆ ซึ่งละเมิดศีลทั้ง 5 ข้อนี้ ผลการศึกษาพบว่า การรักษาศีล 5 ย่อมเป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย และเป็นฐานความประพฤติที่ดีของมนุษย์ ศีลเป็นเครื่องประดับที่สำคัญ และสามารถประดับได้ทุกคน ประดับได้ตลอดกาล ซึ่งคนผู้มีศีลแม้จะรูปร่างไม่งดงาม แต่เมื่ออุดมไปด้วยศีลแล้ว ย่อมงามได้ มีเสน่ห์ได้ เป็นคนที่น่าเข้าใกล้ น่าคบหา น่าไว้ใจ เปรียบเทียบได้ว่า ศีลเป็นสะพานที่มีกำลังมาก เป็นกลิ่นหอมชั้นเยี่ยม เป็นเครื่องลูบไล้อันประเสริฐซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลผู้อุดมด้วยศีลย่อมหอมฟุ้งไปทั่งทุกสารทิศ ในทางตรงกันข้าม หากบุคคลใดประพฤติล่วงละเมิดศีล 5 ข้อนี้เป็นนิจ นอกจากจะกลายเป็นคนไม่น่าเข้าใกล้ ไม่น่าคบหา ไม่น่าไว้ใจ เพราะมักจะสะสมพฤติกรรมไม่ดีทั้งหลาย จนเป็นอุปนิสัยติดตัว กลายเป็นคนใจคอโหดร้าย ชอบลักทรัพย์ เบียดเบียนผู้อื่น เป็นผู้มักมากในกามขาดศีลธรรมอันดี มีวจีกรรมที่น่ารังเกียจ คอยพูดทำร้ายจิตใจผู้อื่น เป็นผู้ประมาท ขาดสติ ขาดความยับยั้งว่าอะไรควรไม่ควร เปรียบเสมือนซาตานในคราบมนุษย์ อีกทั้งการประพฤติละเมิดศีล 5 นั้น หากเป็นกรณีร้ายแรง ผู้ประพฤติละเมิดศีล 5 นั้นก็อาจจะมีความผิดกฎหมายอันมีโทษทางอาญา อาจต้องโทษถึงขั้นประหารชีวิต จำคุก ปรับ ริบทรัพย์สิน หรือถูกควบคุมพฤติกรรมจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่า การรักษาศีล 5 นั้นย่อมมีแต่คุณอนันต์ ปราศจากโทษ ทำให้เป็นหลักตัดสินว่าผู้ใดรักษาศีล 5 อย่างแน่วแน่ ย่อมเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ดังนั้น การรักษาศีล 5 ย่อมเป็นเกราะคุ้มภัยเสมือนมิให้ซาตาน หรือความชั่วใดๆ เข้ามาสิงสถิตในจิตใจ และเบี่ยงเบนพฤติกรรมของบุคคลนั้นให้ออกนอกลู่นอกทางกฎเกณฑ์ของสังคม