แนวทางการพัฒนาทักษะชีวิตและอาชีพในศตวรรษที่ 21 สำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในภูมิภาคตะวันตก
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาและตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลเชิงสาเหตุของทักษะชีวิตและอาชีพในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในภูมิภาคตะวันตก และ 2) เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาทักษะชีวิตและอาชีพในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในภูมิภาคตะวันตก การดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของการพัฒนาทักษะชีวิตและอาชีพในศตวรรษที่ 21 ประชากร คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายโรงเรียนมัธยมศึกษาในภูมิภาคตะวันตก จำนวน 86,488 คน กลุ่มตัวอย่างได้มาโดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (multi-stage random sampling) จำนวน 453 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามแบบมาตรประมาณค่า 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติเชิงบรรยาย และสถิติการวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้าง และระยะที่ 2 ศึกษาแนวทางการพัฒนาทักษะชีวิตและอาชีพในศตวรรษที่ 21 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์มีโครงสร้าง กลุ่มเป้าหมายได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง จำนวน 9 คน การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า 1) ผลการตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลเชิงสาเหตุทักษะชีวิตและอาชีพในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในภูมิภาคตะวันตกกับข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่า โมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (Chi-square = 116.610, df = 65, relative Chi-square = 1.790, P = .000, RMSEA = .042, RMR = .006, CFI = .992, NFI = .984) ผลการวิเคราะห์ค่าอิทธิพลรวมของทักษะชีวิตและอาชีพในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในภูมิภาคตะวันตก พบว่า ตัวแปรที่มีอิทธิพลรวมสูงที่สุดต่อทักษะชีวิตและอาชีพในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในภูมิภาคตะวันตก ได้แก่ การอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย (TE = .741) รองลงมา คือ มโนภาพแห่งตน (TE = .547) และการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ (TE = .070) ตามลำดับ และ 2) ผลการศึกษาแนวทางในการพัฒนาทักษะชีวิตและอาชีพในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในภูมิภาคตะวันตก ได้แก่ (1) การจัดการเรียนรู้แบบกิจกรรมกลุ่ม และการทำงานร่วมกันเป็นทีม (2) การจัดการเรียนรู้แบบการโค้ช (coaching) (3) การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการสร้างผลงานและรายได้ให้กับนักเรียน (4) การจัดกิจกรรมแนะแนวอาชีพให้กับนักเรียน (5) การจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสนับสนุนการเรียนรู้ และ (6) การจัดสภาพแวดล้อมที่มีแหล่งเรียนรู้ทางเทคโนโลยี