นวัตกรรมการขับเคลื่อนเชิงบูรณาการของศาลเยาวชนและครอบครัวกับการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เด็กและเยาวชนที่กระท าความผิดทางอาญา
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลหลัก ซึ่งประกอบด้วย รองอธิบดีศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัว ผู้อำนวยการศาลเยาวชนและครอบครัว ผู้พิพากษาสมทบ และนักจิตวิทยาประจำศาลเยาวชนและครอบครัว รวมทั้งสิ้น 18 ท่าน โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษารูปแบบการบริหารเชิงบูรณาการของศาลเยาวชนและครอบครัว 2) เพื่อศึกษากระบวนการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็ก และเยาวชนที่กระทำความผิดทางอาญาของศาลเยาวชน และครอบครัว 3) เพื่อนำเสนอนวัตกรรมการขับเคลื่อนเชิงบูรณาการของศาลเยาวชนและครอบครัวกับการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดทางอาญา ผลการศึกษาพบว่า 1) การบริหารจัดการมีรูปแบบการบริหารเชิงบูรณาการที่เป็นการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 4 และ 5 ของยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย 2) กระบวนการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนเป็น กระบวนการที่ใช้กลไกสำคัญ คือ ศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำและประสานการประชุมเพื่อแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กเยาวชนและครอบครัว โดยกระบวนการทำงานจะเป็นการทำงานเชิงบูรณาการแบบสหวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วย 4 กลุ่มวิชาชีพ คือ (1) ข้าราชการตุลาการ (2) ข้าราชการศาลยุติธรรม (3) เจ้าพนักงานตุลาการหรือผู้พิพากษาสมทบ (4) เครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม 3) การขับเคลื่อนเชิงบูรณาการของศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเชิงนวัตกรรม เริ่มจากโอกาส และความท้าทายของสังคมที่นำไปสู่การสร้างกลไกต่าง ๆ ตามโมเดลเกลียวนวัตกรรม ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นผลในขั้นตอนสุดท้าย คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ซึ่งวัดได้จากจำนวนคดี และการกระทำความผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนในคดีอาญาที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง