การกระทำผิดซ้ำของเยาวชน: ศึกษาศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดสมุทรสาคร
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลให้เยาวชนกระทำผิดซ้ำ และ 2) นำเสนอแนวทางการป้องกันการกระทำผิดซ้ำของเยาวชน เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ด้วยการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 7 ราย และการสนทนากลุ่ม จำนวน 8 รายผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้เยาวชนกระทำผิดซ้ำ แบ่งออกได้เป็น 2 ด้าน คือ 1) ปัจจัยภายใน ได้แก่ 1. ความคึกคะนองของวัยรุ่น 2. การคบเพื่อน 3.การขาดความตระหนักรู้ในผลการกระทำ 4. ความสามารถทางเชาวน์ปัญญา และ2) ปัจจัยภายนอก ได้แก่ 1. ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว 2. สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ 3. สื่อสังคมออนไลน์ และ 4. การศึกษาและการประกอบอาชีพ โดยแนวทางการป้องกันการกระทำผิดซ้ำของเยาวชน ได้แก่ 1.ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ปรับปรุงแก้ไขและกำหนดบทลงโทษให้เกิดความตระหนักรู้และสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม 2.ด้านการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การสำรวจสภาพปัญหาที่แท้จริงของเยาวชนที่กระทำผิดซ้ำจะสามารถกำหนดแผนในการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูของเยาวชนแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม 3.ด้านการประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน ควรมีการบูรณาการร่วมกันในลักษณะการทำงานแบบเครือข่าย และ 4.ด้านการพัฒนาศักยภาพศูนย์ให้คำปรึกษาฯของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรสาคร เช่น การอบรมด้านจิตวิทยา การสร้างความเข้าใจในปัญหาของเยาวชนที่ปราศจากความคาดหวัง การพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกันในรูปแบบ Case Conference เป็นต้น