การแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเยาวชนในคดีทะเลาะวิวาท ในศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรสาคร: ศึกษามาตรา 132
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการทะเลาะวิวาท ตามมาตรา 132 ในศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรสาคร และเพื่อนำเสนอปัจจัยความสำเร็จของกระบวนการดังกล่าว โดยใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพและเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก ร่วมกับการสนทนากลุ่ม เช่น เด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิด ครอบครัว นักจิตวิทยาประจำศาลเยาวชนและครอบครัว ผู้ให้คำปรึกษาประจำศาลเยาวชนและครอบครัว และผู้พิพากษา ผลการศึกษาพบว่าวิธีการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการทะเลาะวิวาท ตามมาตรา 132 เริ่มจาก 1) การค้นหาสาเหตุที่แท้จริง เช่น การสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ให้คำปรึกษากับเด็กและครอบครัว เด็กที่ถูกจับมาศาลมักมีความวิตกกังวลและเครียด ทำให้ไม่กล้าพูด จึงจำเป็นต้องมีทักษะในการสร้างความเชื่อมั่น เพื่อให้เด็กและพ่อแม่รู้สึกปลอดภัยในการให้ข้อมูล 2) การแก้ไขที่ตรงจุด ผู้ให้คำปรึกษาร่วมกับนักจิตวิทยาวางแผนแก้ไขและบำบัดเด็ก โดยตรวจสอบข้อมูลและวางแผนแก้ไขทั้งที่ตัวเด็ก ครอบครัว และสภาพแวดล้อม เช่น เพื่อน สังคม โรงเรียน เป็นต้น 3) หาวิธีการช่วยเหลือ ด้วยการสร้างเครือข่ายไปยังโรงเรียน สถานประกอบการ และโรงพยาบาล เป็นต้น 4) การติดตามผลระหว่างกระบวนการและหลังกระบวนการ เช่น เด็กและครอบครัวเข้ารับคำปรึกษาอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ร่วมกับการติดตามผ่าน Line กลุ่ม สำหรับปัจจัยความสำเร็จ ประกอบด้วยปัจจัยหลัก คือ บุคลากรในศาล เช่น นักจิตวิทยาและผู้ให้คำปรึกษา และครอบครัว นอกจากนี้มีปัจจัยสนับสนุน คือ โครงการต่าง ๆ ของศาลเยาวชนและครอบครัว ตลอดจนเครือข่ายสถาบันการศึกษา องค์กรเอกชน และผู้นำชุมชนที่เด็กและครอบครัวอาศัยอยู่ และแอพพลิเคชั่น LINE ซึ่งเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม รวมถึงเป็นช่องทางการให้คำปรึกษา แนะนำที่รวดเร็วและคล่องตัว โดยมีข้อเสนอเสนอแนะคือ ภาครัฐโดยเฉพาะองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสถาบันครอบครัว เร่งส่งเสริมและให้ความรู้ด้านการเลี้ยงดูเด็กและวัยรุ่นให้กับครอบครัวอย่างเร่งด่วน และเสนอให้มีการต่อยอดการวิจัยเพื่อสร้างความรู้ในการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กและเยาวชน ในคดีการกระทำความผิดต่าง ๆ ให้มากขึ้น