การจัดการความเครียดตามแนวทางการแพทย์วิถีธรรม

Main Article Content

ประทุมทิพย์ ไชยชิตร
ผศ.ดร.ฉัตรวรัญช์ องคสิงห

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาเหตุปัจจัยและประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดในกลุ่มจิตอาสาและผู้ที่เคยผ่านการอบรมการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์วิถีธรรม 2) เพื่อศึกษาวิธีการจัดการความเครียดตามแนวทางการแพทย์วิถีธรรม โดยผู้วิจัยได้ใช้วิธีแบบผสมผสาน (mixed method) โดยทำการสำรวจด้วยแบบสอบถาม google form สอบถาม จิตอาสา และผู้ที่เคยผ่านการอบรมการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์วิถีธรรม จำนวน 200 คน โดยใช้แบบวัดความเครียดสวนปรุง (SPST-20) กรมสุขภาพจิต สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการสัมภาษณ์เชิงลึก จำนวน 15 คน ผลจากแบบสำรวจพบว่าสาเหตุของความเครียดที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ การไม่ได้ดั่งใจหวัง (ค่าเฉลี่ย 2.20) ระดับความเครียด มีความรู้สึกเบื่อหน่าย หงุดหงิด ปวดหัวบ้างเป็นบางครั้ง (ค่าเฉลี่ย 1.71) การจัดการความเครียด มีการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์วิถีธรรม (ค่าเฉลี่ย 4.01) สำหรับการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูล 15 คนมีความเจ็บป่วยทางด้านร่างกาย ได้แก่ โรค SLE สะเก็ดเงิน ไตวายเรื้อรัง ไทรอยด์เป็นพิษ วัยทอง วุ้นตาเสื่อม โรคกระดูกและข้อเข่าเสื่อม โรครูมาตอยด์ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ตกขาว ริดสีดวงทวาร โรคหอบหืด ภูมิแพ้ โรคระบบทางเดินหายใจ เป็นซีสในมดลูก ซีสที่เต้านม ไวรัสบี ไขมันในเลือดสูง นิ่วในท่อไตและถุงน้ำดี และมีความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ ได้แก่ โรคไบโพล่าร์ โรคซึมเศร้า โรคเครียด สาเหตุของความเครียดของผู้ให้ข้อมูลหลัก ได้แก่ 1) ปัญหาครอบครัว 2) ปัญหาจากการทำงาน 3) ปัญหาจากสังคมรอบด้าน และ 4) ปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเงิน หนี้สิน รายรับไม่พอกับรายจ่าย 5) ปัญหาด้านสุขภาพ และ 6) ปัญหาเกิด จากการกระทำของตนเอง สร้างความกดดันให้กับตัวเอง ความกลัว กลัวความบกพร่อง เก็บตัว ไม่เปิดเผย ไม่ไว้ใจคนอื่น ไม่ชอบแก้ปัญหา มีความคิดซับซ้อน เบียดเบียนตนเอง ผู้ให้ข้อมูลหลักส่วนใหญ่ใช้หลัก ยา 9 เม็ด หรือเทคนิค 9 ข้อตามหลักการแพทย์วิถีธรรม ในการจัดการความเครียด โดยใช้เทคนิค ข้อที่ 8 ซึ่งเป็นยาเม็ดเลิศ ใช้ธรรมะ ละบาป บำเพ็ญกุศล คบและเคารพมิตรดี หมั่นฟังธรรม ทบทวนธรรม สนทนาธรรม ใคร่ครวญธรรมกับหมู่มิตรดี ยอมรับในวิบากกรรม หลักการที่ใช้คือ 1) มีความเชื่อและศรัทธา 2) ใช้ธรรมะ ฟังธรรม ใคร่ครวญธรรม 3) ตั้งศีล       เพื่อชำระกิเลส 4) ปฎิบัติตามศีล เพื่อลด ละ เลิก กามและอัตตา ความอยากได้ อยากมี  5) การเร่งทำกุศลให้มากๆ เพื่อให้ดีชิงออกฤทธิ์แทนร้าย 6) ทำงานฟรี ปล่อยวาง ฝึกฝนล้างตัวยึดมั่นถือมั่น 7) ใช้เทคนิคทำใจให้หายโรคเร็ว ยาเม็ดที่ 8 คือ ไม่กังวล ไม่เร่งผล กับอาการหายเจ็บป่วย 8) ทำใจยอมรับตามความเป็นจริง ปัจจัยสนับสนุนให้สามารถลดละความเครียดได้สำเร็จ คือการที่ผู้ให้ข้อมูลหลักเป็นผู้ปฏิบัติธรรม รักษาศีล 5 ละสิ่งที่เป็นโทษ บำเพ็ญทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ต่อตนเองและผู้อื่น ฝึกฝนตนเอง จนทำให้ตนเองมีความรู้ความสามารถเข้าใจจิตใจตนเอง เข้าใจเหตุแห่งการเกิดความเครียด รู้จักตัวของกิเลสที่พาให้เกิดความทุกข์  ความเครียด เมื่อเข้าใจแล้วก็นำมาปฏิบัติใช้กับชีวิตจริง จนลดความเครียดกับเรื่องต่างๆได้

Article Details

How to Cite
ไชยชิตร ป. ., & องคสิงห ผ. . (2025). การจัดการความเครียดตามแนวทางการแพทย์วิถีธรรม. Journal of Dhamma for Life, 31(1), 330–341. สืบค้น จาก https://so08.tci-thaijo.org/index.php/dhammalife/article/view/3873
บท
บทความวิจัย