วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างวิปัสสนาภูมิกับการปรับอินทรีย์ในการเจริญวิปัสสนาภาวนา
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ (1) เพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (2) เพื่อศึกษาวิปัสสนาภูมิกับการปรับอินทรีย์ที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (3) เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างวิปัสสนาภูมิกับการปรับอินทรีย์ในการเจริญวิปัสสนา ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยเอกสารเชิงพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า กรรมฐานเป็นหลักการปฏิบัติเพื่อฝึกฝนมนุษย์ เน้นฝึกจิตใจให้มีความเห็นที่ถูกต้อง และเจริญขึ้นเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งสภาวะธรรมชาติความเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ การที่จะพัฒนาจิตให้เจริญขึ้นในระดับปัญญาเพื่อรู้เท่าทันความเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การ พ้นทุกข์ตามหลักคำสอนของพุทธศาสนา จุดหมายของการเจริญสมถกรรมฐาน คือ ฌานจิต เป็นผลที่เกิดขึ้นตามมา คือ เกิดรูปฌาน 4 อรูปฌาน 4 สมาบัติ 8 อภิญญา 6 และการเจริญวิปัสสนาภาวนา เพื่อให้เกิดปัญญารู้เห็นความเกิดดับไปของรูปนามตามความเป็นจริง เป็นไปตามหลักของพระไตรลักษณ์ จนบรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้ละสังโยชน์ได้ตามลำดับของการบรรลุธรรม ในแต่ละขั้นจนถึงสูงสุดคือพระนิพพานตัดกิเลสทั้งหลายได้โดยสิ้นเชิงไม่มีส่วนเหลือ วิปัสสนาภูมิ หมายถึง พื้นที่กระทําวิปัสสนาหรืออารมณ์ของวิปัสสนา การเจริญวิปัสสนานั้นต้องกําหนดรู้อยู่ที่วิปัสสนาภูมิ สภาวะที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ต้องเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงไม่เปลี่ยนแปลงจากสภาวะของตน คือ เป็นปรมัตถ์ธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติวิปัสสนา เรียกว่า วิปัสสนาภูมิ ๆ มี 5 อย่างได้แก่ ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 14 อินทรีย์ 22 อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาท 12 และเมื่อย่อลงแล้วก็เป็นเพียงรูปกับนามเท่านั้น ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติวิปัสสนา การปฏิบัติวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐานต้องมีกระบวนการปรับสมดุล 5 ประการ คือ (1) สัทธินทรีย์ เป็นปฏิปักษ์ต่อความไม่เชื่อ (2) วิริยินทรีย์ มีอำนาจในการกำจัดความเกียจคร้าน (3) สตินทรีย์ มีอำนาจในการกำจัดความประมาท (4) สมาธินทรีย์ มีอำนาจในการกำจัดความฟุ้งซ่าน (5) ปัญญินทรีย์ มีอำนาจในการกำจัดความหลง วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการวิปัสสนาภูมิกับการปรับอินทรีย์ พบว่า การปรับอินทรีย์ให้สมดุล คือ เป็นการปรับอินทรีย์เสมอกันเป็นคู่ ๆ กล่าวคือ 1) ปรับศรัทธาให้เสมอกับปัญญา 2) ปรับปัญญาให้เสมอกับศรัทธา 3) ปรับวิริยะให้เสมอกับสมาธิ 4) ปรับสมาธิให้เสมอกับวิริยะ 5) สติยิ่งมากยิ่งดี ไม่ขาดไม่เกิน และเป็นตัวสนับสนุนอินทรีย์อื่นให้สมดุลเร็วขึ้น การปรับอินทรีย์มีความสัมพันธ์กับวิปัสสนาภูมิทั้ง ๕ หมวดมี ขันธ์ 5 อายตนะ 12 เป็นต้น ในฐานะเป็นอารมณ์ของการตามรู้เพื่อให้เห็นไตรลักษณ์ การปรับอินทรีย์ 5 ให้สมดุลจะทำให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้าและถึงเป้าหมายสูงสุดคือการบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้อย่างรวดเร็ว พระอรหันต์จึงเป็นผู้ชื่อว่าผ่านการอบรมอินทรีย์ให้สมดุลครบถ้วน