การบูรณาการหลักพุทธจิตวิทยากับจิตวิทยาการให้คำปรึกษารายบุคคล

Main Article Content

พิชัย โชติชัยพร
ชมพู โกติรัมย์
เมตเตยยา เบลิอาเต
ธรรมิกะ ประนิธิ

บทคัดย่อ

การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยารายบุคคลเป็นกระบวนการให้คำปรึกษาแก่ผู้รับคำปรึกษาโดยเป็นการสื่อสารแบบสองทางระหว่างผู้ให้คำปรึกษากับผู้รับคำปรึกษาที่มารับคำปรึกษาด้วยมีความคาดหวังต่อการให้คำปรึกษาว่าจะช่วยตอบคำถามหรือหาทางออกหรือช่วยรับฟังปัญหาหรือความทุกข์ที่กำลังเผชิญอยู่ให้รู้สึกเบาบางลงหรือมีความผ่อนคลายจากสภาพการณ์ที่มีความทุกข์ในใจ ความกดดัน ความเครียดจากปัญหาที่รุมเร้าโดยอยากพูดคุยกับใครสักคนที่สามารถช่วยคลี่คลายความทุกข์ในใจได้ ผู้ให้คำปรึกษาจึงเป็นผู้มีหน้าที่ช่วยเหลือ รับฟังและสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้รับคำปรึกษาสามารถเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่นและเข้าใจสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก เพื่อให้เกิดปัญญาทำความเข้าใจกับปัญหา รู้สาเหตุและมุ่งหาแนวทางการแก้ปัญหาด้วยวิถีทางที่ถูกต้องเหมาะสม เกิดการยอมรับความจริงและสามารถพัฒนาสุขภาวะทางจิตใจและเกิดความเจริญงอกงามในจิตใจสามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้


หลักพุทธจิตวิทยาเป็นการศึกษาจิตใจและกระบวนการทางจิตใจตามแนวทางของพระพุทธศาสนาซึ่งมีมุมมองที่ลึกซึ้งและแตกต่างจากจิตวิทยาตะวันตกในหลายประการ เช่น พุทธจิตวิทยามุ่งเน้นไปที่การดับทุกข์อย่างถาวรและการพัฒนาจิตใจเพื่อความสงบภายในที่แท้จริง ในขณะที่จิตวิทยาตะวันตกส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การบำบัดอาการทางจิตและการปรับตัวให้เข้ากับสังคม พุทธจิตวิทยาให้ความสำคัญกับการฝึกจิตและการทำสมาธิเป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าใจและเปลี่ยนแปลงจิตใจในขณะที่จิตวิทยาตะวันตกเน้นวิธีการทางปัญญาและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและพุทธจิตวิทยามีมุมมองเรื่องกฎแห่งกรรมซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่พบในจิตวิทยาตะวันตก โดยรวมแล้วพุทธจิตวิทยาเป็นการนำหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสตร์ที่เน้นการพัฒนาจิตใจของมนุษย์ให้เจอหนทางแห่งการดับทุกข์และพบหนทางแห่งความสงบสุขอย่างเป็นระบบมีรูปธรรมตามหลักของพุทธศาสนา เช่น หลักอริยสัจสี่ ไตรลักษณ์ กฎแห่งกรรม เมตตาและกรุณา ซึ่งเป็นหลักที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องของจิตใจ บทความนี้จึงมุ่งนำเสนอแนวทางการประยุกต์ใช้หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาเข้ากับกระบวนการให้คำปรึกษารายบุคคลโดยมุ่งพิจารณาถึงความสอดคล้องและจุดร่วมระหว่างศาสตร์ทั้งสองแขนงเข้าด้วยกัน เพื่อให้นักจิตวิทยาการปรึกษานำไปปรับใช้เพื่อให้การทำหน้าที่ช่วยเหลือส่งเสริมให้ผู้รับคำปรึกษาสามารถจัดการแก้ไขกับปัญหาและความทุกข์ภายในจิตใจได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับคำปรึกษาและช่วยให้เกิดความเข้าใจชัดแจ้งว่าจิตใจของตนมีความสัมพันธ์กับเหตุแห่งทุกข์ เมื่อเกิดความรู้ความเข้าใจและเกิดปัญญาแล้วย่อมเข้าใจและไม่ยึดติดในทุกข์นั้น

Article Details

How to Cite
โชติชัยพร พ. ., โกติรัมย์ ช. ., เบลิอาเต เ. ., & ประนิธิ ธ. . (2025). การบูรณาการหลักพุทธจิตวิทยากับจิตวิทยาการให้คำปรึกษารายบุคคล. Journal of Dhamma for Life, 31(2), 348–359. สืบค้น จาก https://so08.tci-thaijo.org/index.php/dhammalife/article/view/5148
บท
บทความวิชาการ