พระพุทธศาสนากับความคาดหวังของสังคม
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความวิชาการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพระพุทธศาสนากับความคาดหวังของสังคม ธรรมชาติของสังคมนั้นมีปัญหาอยู่มากมาย ในสังคมจึงเกิดความคาดหวังที่จะพัฒนาและแก้ไขปัญหาทั้งหลายขึ้น รวมเรียกว่าความคาดหวังของสังคมเพื่อที่จะตอบสนองวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้นั้น จึงเกิดการตั้งเป้าหมายอันเป็นสากลของโลกร่วมกันขึ้นที่เรียกว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 เป้าหมาย โดยมีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาในด้านบุคคลในสังคม ความมั่งคั่งที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมของโลก สันติภาพ ความสามัคคี และพัฒนาสังคมโลกให้มีความเจริญมากยิ่งขึ้น ซึ่งพระพุทธศาสนานั้นมีหลักธรรมอยู่มากมายที่จะสามารถช่วยให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นสามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ง่ายยิ่งขึ้น การศึกษาครั้งนี้ได้เสนอหลักอริยสัจ 4 และหลักไตรสิกขา ไว้เป็นหลักการในการประกอบการวิเคราะห์และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพื่อที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคมตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงระดับสังคมโลก
หลักอริยสัจ 4 และหลักไตรสิกขาในพระพุทธศาสนานั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาในด้านความประพฤติทางกาย วาจา และใจ ของบุคคลเป็นหลักสำคัญ เมื่อบุคคลได้รับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาตามหลักธรรมดังกล่าวแล้ว ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นในการนำไปสู่การร่วมกันพัฒนาเรื่องของความมั่งคั่ง สิ่งแวดล้อม สันติภาพ และความสามัคคี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังกล่าวมานี้ จึงควรนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาให้เป้าหมายและความคาดหวังของสังคมโลกประสบผลสำเร็จ