มนุษย์นิเวศวิทยากับการตระหนักรู้คุณค่าของธรรมชาติอย่างเชื่อมโยงกัน ของสรรพสิ่งตามแนวทางพระพุทธศาสนา
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนวรรณกรรม แนวความคิดที่นำมาอธิบาย พบว่า ความสัมพันธ์พิเศษที่มนุษย์มีกับระบบนิเวศธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมีขอบเขตกว้างขวาง แต่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน เพราะการดำรงชีวิตของมนุษย์อยู่ได้เพราะมีระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ อากาศ พลังงาน แหล่งอาหาร แร่ธาตุ ระบบนิเวศธรรมชาติมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ ความหลากหลายทางธรรมชาติคือทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด แต่เรารู้สึกถึง “คุณค่า” ของความหลากหลายทางธรรมชาติน้อยที่สุด เพราะเราตีค่าของสิ่งบางอย่างเป็นตัวเงินได้ สิ่งนั้นก็สามารถถูกลดคุณค่าและทิ้งขว้างได้ ระบบนิเวศก็คล้ายกับระบบอื่น ๆ ซึ่งต่างก็มีองค์ประกอบของระบบที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าองค์ประกอบต่าง ๆ ในระบบทำหน้าที่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ความสมดุลและความยั่งยืนของระบบก็จะเกิดขึ้น มนุษย์กับธรรมชาติจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน เพื่อการดำรงอยู่ต่อไป หากขาดระบบนิเวศธรรมชาติ มนุษย์ก็ไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ ดังนั้นตามหลักพุทธศาสนาจึงมองสรรพสิ่งอย่างเป็นองค์รวม ตามหลักการที่เกิดขึ้นโดยอาศัยกันและกันเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไปตามหลัก อิทัปปัจจยตา หรือหลักปฏิจจสมุปบาท ดังความว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ” ต่างฝ่ายต่างเอื้อประโยชน์กันและกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน และผลสุดท้ายคือความสมดุลอย่างแท้จริง