วิเคราะห์ปาราชิก 4 ในสมันตปาสาทิกาตามแนวกฎหมายคณะสงฆ์ไทยปัจจุบัน

Main Article Content

พระมหาขนบ สหายปญฺโญ, ดร.
พระมหาสราวุธ ญาณโสภโณ
พระจาตุรงค์ อาจารสุโภ

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อนำเสนอประวัติและพัฒนาการของคัมภีร์สมันตปาสาทิกา 2) เพื่อวิเคราะห์การตัดสินปาราชิก 4 ที่ปรากฏในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา 3) เพื่อวิเคราะห์การตัดสินปาราชิก 4 ตามแนวกฎหมายคณะสงฆ์ไทยปัจจุบัน ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงเอกสาร


  ผลการวิจัยพบว่า สมันตปาสาทิกาเป็นคัมภีร์ชั้นอรรถกถาอธิบายพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภิกขุนีวิภังค์ มหาวรรค จุลวรรค และปริวาร ผู้แต่งคือพระพุทธโฆษาจารย์ โดยอาศัยเค้าโครงอรรถกถาเดิม คือมหาอรรถกถา มหาปัจจรี และกุรุนทีเป็นหลัก ด้านวิเคราะห์การตัดสินปาราชิก 4 พบว่า การตัดสินปาราชิกมีรูปแบบเฉพาะแต่ละข้อ ดังนี้ ปฐมปาราชิกต้องอาศัยบุคคลหลายฝ่ายตัดสิน, ทุติยปาราชิกต้องสอบสวนรายละเอียดหลักฐาน 5 ประการ คือ วัตถุ กาล โอกาส ราคา และการใช้สอย, ตติยปาราชิกต้องสอบสวนหลักฐานทางคดี 6 ประการ คือ วัตถุ เวลา สถานที่ อาวุธ อิริยาบถ และกิริยาพิเศษ, และจตุตถปาราชิก ต้องสอบสวนความน่าเชื่อถือ 6 ประการ คือ สิ่งที่ผู้อวดได้บรรลุ วิธีการ เวลา สถานที่ กิเลสที่กำจัดได้ ธรรมะที่ได้บรรลุ การวิเคราะห์การตัดสินปาราชิก 4 ตามแนวกฎหมายคณะสงฆ์ไทยปัจจุบัน พบว่า ไม่ได้แยกเกณฑ์การตัดสินปาราชิกทั้ง 4 ออกเป็นข้อ ๆ แต่เป็นการตัดสินโดยภาพรวม โดยการนำกฎนิคหกรรมมาใช้ ทั้งนี้ การลงนิคหกรรม ได้เปลี่ยนแปลงจากที่พระวินัยกำหนดมาเป็นกฎหมายกำหนด ส่งผลให้พระวินัยถูกมองว่ามีความสำคัญลดลง อีกทั้งการลงนิคหกรรมที่มีความซับซ้อน ส่งผลให้เกิดความไม่เข้าใจในการปฏิบัติ และปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้รับการตัดสินที่รวดเร็ว ก่อความมัวหมองแก่คณะสงฆ์โดยรวม

Article Details

บท
บทความวิจัย