การเข้าถึงบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของประชาชนในเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับการเข้าถึงบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของประชาชนในเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา 2) เปรียบเทียบการเข้าถึงบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของประชาชนในเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ 3) นำเสนอแนวทางการเข้าถึงบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของประชาชนในเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา วิธีดำเนินการวิจัยมี 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้รับบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขที่มีภูมิลำเนาอยู่ในทะเบียนราษฎร์ ในประชาชนในเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา จำนวน 397 คน ได้มาโดยการเลือกกลุ่มอย่างสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามการเข้าถึงบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของประชาชนในเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ที่มีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.99 และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบที การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และแอลเอสดี และขั้นตอนที่ 2 การวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ คือ กลุ่มผู้บริหาร กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน และกลุ่มผู้รับบริการ จำนวน 9 คน ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า 1) ระดับการเข้าถึงบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของประชาชนในเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ในภาพรวม อยู่ในระดับมาก โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านการเข้าถึงแหล่งบริการ รองลงมา คือ ด้านความสามารถเสียค่าใช้จ่ายสำหรับบริการ และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านความพอเพียงของบริการที่มีอยู่ 2) ผู้รับบริการที่มีระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ต่อเดือน และระยะเวลาในการอาศัยในชุมชน ต่างกัน มีการเข้าถึงบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขในเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ในภาพรวมแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และ 3) แนวทางการเข้าถึงบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของประชาชนในเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา มีรายการปฏิบัติ 34 รายการ จำแนกเป็น 5 ด้าน คือ ด้านความพอเพียงของบริการที่มีอยู่ มีรายการปฏิบัติ 8 รายการ เช่น ส่งเสริมให้บุคลากรสาธารณสุขที่มีความรู้พื้นฐาน เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่เข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาทักษะและสามารถช่วยเหลือในการให้บริการสุขภาพเบื้องต้น ด้านการเข้าถึงแหล่งบริการ มีรายการปฏิบัติ 5 รายการ เช่น พัฒนาและส่งเสริมการใช้ระบบแพทย์ทางไกล ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้สะดวกขึ้น โดยสามารถปรึกษาแพทย์และรับการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นได้จากที่บ้าน ลดข้อจำกัดในการเดินทางไปสถานพยาบาล ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่าย ทั้งยังสามารถติดตามอาการและรับคำแนะนำทางการแพทย์ได้อย่างต่อเนื่อง ด้านความสะดวกและสิ่งอำนวยความสะดวกของแหล่งบริการ มีรายการปฏิบัติ 8 รายการ เช่น ใช้แอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการนัดหมายล่วงหน้า เพื่อลดระยะเวลาการรอคิวในโรงพยาบาล ด้านความสามารถเสียค่าใช้จ่ายสำหรับบริการ มีรายการปฏิบัติ 6 รายการ เช่น พัฒนาเครือข่ายการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อให้การรักษาในระดับพื้นฐานสามารถเข้าถึงได้ง่ายและประหยัด และด้านการยอมรับคุณภาพการบริการ มีรายการปฏิบัติ 7 รายการ เช่น ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริการและสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างครบถ้วนและเข้าใจง่าย