จริยธรรมการตีพิมพ์

บทความที่ส่งมาตีพิมพ์กับทางวารสารฯหากส่วนหนึ่งของบทความมาจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในคน สัตว์ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคนจากสถาบันที่ผ่านการรับรองสำนักงานมาตรฐานการวิจัยในคน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และเป็นไปตามกฏหมายสากลสำหรับการทดลองในสัตว์ทดลองต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการพิจารณาจรรยาบรรณการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์เช่นกัน และอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2558 โดยผู้เขียนสามารถส่งไฟล์หนังสืออนุมัติดังกล่าวเป็นไฟล์ PDF. Upload มาพร้อมการส่งไฟล์บทความ submit เข้าระบบเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ หากบทความที่ส่งมาตีพิมพ์เป็นประเด็นหรือขอบเขตที่ไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในคน สัตว์ ตามเกณฑ์การวิจัยข้างต้น เช่น บทความทางปรัชญาการเมือง บทความวิเคราะห์เชิงสถิติ เป็นต้น จะได้รับการยกเว้นในส่วนของหนังสืออนุมัติ

ทั้งนี้ จะเริ่มใช้เกณฑ์ข้างต้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียน (Authors)

  • ต้นฉบับ (Manuscript) ที่ผู้เขียนส่งตีพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์ ต้องไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน หรือไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์วิชาการอื่นใด
  • ผลงานแปลหรือเรียบเรียงจากภาษาต่างประเทศ ต้องมีหลักฐานการได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์
  • ผู้เขียนต้องเขียนต้นฉบับให้ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนดไว้ใน “คำแนะนำสำหรับผู้เขียน” หรือ “Author Guidelines”
  • หากมีการระบุผลงานของผู้อื่นในต้นฉบับไม่ว่าด้วยการคัดลอกข้อความ (Quotation) การสรุปความ (Paraphrase) หรือการย่อความ (Summary) ต้องมีการอ้างอิง (Citation) ทั้งในเนื้อหา (In text citation) และการเขียนรายการเอกสารอ้างอิงตอนท้าย (References) และมีรูปแบบที่ถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนดในคำแนะนำสำหรับผู้เขียน เพื่อให้ผู้อ่านสามารถตรวจสอบหรือค้นหาเพิ่มเติมแหล่งที่มาของข้อมูลได้
  • ผู้เขียนทุกคนที่มีชื่อปรากฏในต้นฉบับ ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในการศึกษาวิจัยหรือรับผิดชอบในต้นฉบับจริง

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ (Editors)

  • บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องประเมินต้นฉบับบนพื้นฐานของความเป็นธรรมทางวิชาการ ได้แก่ การพิจารณาจากความสำคัญของเนื้อหา ความคิดริเริ่ม ความชัดเจน และความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของวารสารโดยปราศจากอคติด้านเชื้อชาติ ความเชื่อทางศาสนา เพศ แนวคิดทางการเมือง และสถาบันที่สังกัด
  • บรรณาธิการหรือกองบรรณาธิการต้องไม่นำส่วนใดส่วนหนึ่งของข้อมูลต้นฉบับไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยปราศจากความยินยอมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เขียน
  • บรรณาธิการต้องกำกับดูแลให้ต้นฉบับผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย 2 คน (Peer review process)
  • บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยรายละเอียดของต้นฉบับ เช่น ชื่อผู้เขียน ชื่อผู้ประเมิน ให้ผู้หนึ่งผู้ใดทราบ ยกเว้นผู้รับผิดชอบหลักและผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมิน (Reviewers)

  • ผู้ประเมินต้องประเมินด้วยความเป็นกลางและปราศจากอคติใดๆ เพราะผลการประเมินมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการตัดสินใจของบรรณาธิการที่จะพิจารณารับหรือไม่รับพิมพ์ต้นฉบับ และเป็นแนวทางสำหรับผู้เขียนในการปรับปรุงแก้ไขต้นฉบับ
  • ผู้ประเมินและผู้ที่ปฏิเสธการประเมิน ต้องเก็บข้อมูลเกี่ยวกับต้นฉบับไว้เป็นความลับ ไม่วิพากษ์วิจารณ์ อภิปรายโต้แย้ง หรือแสดงความคิดเห็นอื่นใดก่อนต้นฉบับได้รับการตีพิมพ์
  • หากผู้ประเมินเห็นว่าตนไม่มีความเหมาะสมในการประเมินต้นฉบับ ต้องแจ้งบรรณาธิการหรือกองบรรณาธิการทันที เพื่อทางบรรณาธิการหรือกองบรรณาธิการจะได้พิจารณาจัดหาผู้ประเมินอื่นต่อไป
  • ผู้ประเมินต้องไม่นำส่วนใดส่วนหนึ่งของข้อมูลต้นฉบับที่ตนเป็นผู้ประเมินไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยปราศจากความยินยอมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เขียน หรือความเห็นชอบจากบรรณาธิการ