เกี่ยวกับวารสาร

วารสารสังคมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University Journal of Social Science: CUJSS.) เป็นวารสารวิชาการของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำหนดประเภทบทความที่จะพิจารณาตีพิมพ์เป็น 4 ประเภท ดังนี้ (1) บทความวิจัย (Research article)  (2) บทความปริทัศน์ (Review article) (3) บทความวิชาการ (Academic article) และ (4) บทวิจารณ์หนังสือ (Book review)  ทั้งนี้ บทความที่ส่งมาตีพิมพ์กับวารสารฯต้องไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน ออกเผยแพร่ปีละ 2 ฉบับ (เดือนมิถุนายน และ เดือนธันวาคม) โดยทุกบทความจะได้รับการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่า 3 คน ตามกระบวนการที่กองบรรณาธิการกำหนด

การประเมินบทความ

บทความวิจัยจะได้รับการประเมินแบบ double-blinded peer-reviewed process จากผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่า 3 คนผ่านระบบ ThaiJo2.0

Each research article is double-blinded peer-reviewed by at least three expert reviewers and submission is online via ThaiJo2.0

Announcements

การประชุมวิชาการและนิทรรศการระดับชาติ (ครั้งที่ 7) "อุดมศึกษาไทยยุคใหม่กับการพัฒนาสังคมด้วย Soft Power"

24-04-2024

ฉบับปัจจุบัน

ปีที่ 53 ฉบับที่ 2 (2023): กรกฏาคม - ธันวาคม 2566
cover-vol53no2

บทบรรณาธิการ

วารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ประกอบด้วยบทความ 8 บทความ ได้แก่

บทความเรื่อง “ถกคิด ‘การอภิบาล’ (governance) ในประเทศไทยผ่านงานวิจัยและหลักสูตรการสอนในมหาวิทยาลัย (Debating ‘Governance’ in Thailand through Research and Higher Education Programs)” โดย เอกวีร์ มีสุข ธีรพัฒน์ อังศุชวาล วีระ หวังสัจจะโชค และชุติเดช เมธีชุติกุล ให้ภาพของการนำเอาแนวคิดเรื่องอภิบาล (governance) มาใช้ในการอุดมศึกษา ซึ่งถูกลดทอนให้เหลือเพียงด้านที่เป็นธรรมาภิบาล (good governance) ทำให้แนวคิดด้านการศึกษาแบบอื่นถูกลดทอนความสำคัญและความหมายลง

บทความของ ดร.พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง เรื่อง “รัฐธรรมนูญนิยมและความเป็นพลเมืองไทยในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาสาธารณรัฐนิยมสมัยใหม่สากล (Thai constitutionalism and citizenship as a part of the global intellectual history ofmodern republicanism (1885-1947))” ศึกษาประวัติความคิดของ “รัฐธรรมนูญนิยม” และ “ความเป็นพลเมืองในสยาม/ไทย” ในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาสาธารณรัฐนิยมสมัยใหม่สากล ระหว่างปี ค.ศ. 1885 ซึ่งเป็นช่วงที่คำกราบบังคมทูลความเห็นเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2428 ถูกเผยแพร่ จนถึงปี ค.ศ. 1932 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

ดร. ชฎิล โรจนานนท์ และ ดร. นภา วรวรางกูร ในบทความ “การเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการส่วนกลางที่มีผลต่อการใช้เงินสะสมของ อปท. ขนาดใหญ่ในการจัดบริการสาธารณะ (Changes in Central Government Regulations Affect the Use of Accumulated Funds from Large Local Administrative Organizations to Provide Public Services)” ศึกษา เงินสะสมของ อปท. ที่มีปริมาณอยู่ในระดับสูง ถือเป็นการสูญเสียโอกาสการพัฒนาของท้องถิ่น โดยเฉพาะ อปท. ขนาดใหญ่ กระทรวงมหาดไทยฯ พ.ศ. 2547 ได้แก้ไขระเบียบเพื่อปรับโครงสร้างสัดส่วนในการกันทุนสำรองเงินสะสมมาอยู่ที่ร้อยละ 15 นำไปสู่การเพิ่มพื้นที่การคลังในการจัดบริการสาธารณะ แต่ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมให้ อปท. ได้ใช้เงินสะสมเพิ่มขึ้น

รศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา และ อุเชนทร์ เชียงเสน ในบทความ “พลวัตของปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง: กรณีศึกษาการเคลื่อนไหวของเยาวชนในปี 2563-2564 (The Dynamics of Nonviolent Action Amidst Political Conflict: A Case Study of the 2020-2021 Youth Movement)” ศึกษาการเคลื่อนไหวของขบวนการเยาวชนช่วงปี 2563-2564 เพื่อทำความเข้าใจเงื่อนไขในทางปฏิบัติที่ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวที่เริ่มต้นจากความตั้งใจที่จะใช้สันติวิธี โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก 60 คน จัดกิจกรรมสนทนากลุ่ม และใช้แนวคิดปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงที่ให้ความสำคัญกับความรู้จากประสบการณ์ของผู้เคลื่อนไหว และการรับมือของรัฐ และมีข้อค้นพบ สามประเด็น ได้แก่ ประการแรก การยกระดับความรุนแรงเกิดจากปฏิสัมพันธ์โต้ตอบระหว่างฝ่ายรัฐกับผู้ชุมนุม ทั้งสองฝ่ายจึงมีส่วนต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น ประการที่สอง ผู้ร่วมเคลื่อนไหวบางส่วนต้องการตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ การห้ามปรามจึงไร้ผล ทางเลือกที่เป็นไปได้คือการช่วยให้ผู้ชุมนุมที่ไม่ต้องการปะทะได้ออกจากพื้นที่เสี่ยง สาม รัฐมีพัฒนาการปราบปรามผู้ชุมนุมที่รักษาความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงได้

บทความ “การศึกษาวิเคราะห์บทบาทบริษัทข้ามชาติจีนในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน จังหวัดระยองต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนผ่านแนวคิด “การทูตสามเหลี่ยม” (An analytical study of the role of Chinese Multinational Companies in the Thai-Chinese Industrial Area, Rayong Province for the Development of Thai-China Relations through the Concept of “Triangular Diplomacy”)”  โดย พรภวิษย์ หล้าพีระกุล และ แอนนี คำสร้อย ศึกษาบทบาทและความสำคัญของบริษัทข้ามชาติจีนในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไทน-จีน ในจังหวัดระยอง พบประเด็นน่าสนใจคือการเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกในต่างประเทศของจีน ซึ่งผ่านการผลักดันมายาวนาน อีกทั้งยังมีปัจจัยเสริมภายในของไทยเอง ได้แก่นโยบาย EEC ที่สอดรับกับ BRI ของจีน

บทความของ ผศ. ดร.ฐานิดา บุญวรรโณ เรื่อง “รอคอยข้ามรุ่น: มานุษยวิทยาว่าด้วยเวลาที่รอคอยของคนยากจนกับนโยบายสังคมของไทย (Waiting over generations: Anthropology of the Poor’s Waiting Time and Thailand Social Policy)” ศึกษาครัวเรือนในจังหวัดพิษณุโลกที่มีฐานะยากจน โดยชี้ว่า ความยากจนข้ามรุ่นดำรงอยู่เนื่องจากนโยบายการศึกษาและนโยบายสังคมอื่นๆที่เกี่ยวข้องไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่นได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพส่งผลให้คนจนจากหนึ่งรุ่นสู่รุ่นสูญเสียโอกาสในชีวิตมากมาย โดยความจนข้ามรุ่นส่งนัยยะสามประการ ได้แก่ หนึ่ง การดำรงอยู่ของความยากจนและถูกส่งผ่านข้ามรุ่น สอง ช่วงเวลาของการรอคอยทำให้สูญเสียโอกาสในชีวิต ตั้งแต่การหลุดออกจากระบบการศึกษาและกลายเป็นแรงงานกึ่งทักษะกึ่งไร้ทักษะ สาม นโยบายการศึกษามีส่วนช่วยขยายโอกาสในชีวิตของคนยากจน แต่อาจยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการตัดตอนวงจรความยากจนข้ามรุ่น

บทความของ ผศ.ดร.สุรัชนี ศรีใย เรื่อง “PoliSEAmaking: Accountabilities in Economic Responses to COVID-19 of Southeast Asian Governments (ความรับผิดรับชอบและการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 ของรัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)” ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างความรับผิดรับชอบของรัฐบาลและปฏิกิริยาต่อวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านกรอบคิดเรื่อง competing principals ชี้ให้เห็นว่าความรู้สึกรับผิดรับชอบของรัฐบาลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ไม่เท่ากัน และส่งผลต่อผลิตผลเชิงนโยบาย โดยอาศัยข้อมูลเชิงปริมาณและการเก็บสถิติเรื่องการให้การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจาก The Oxford COVID-19 Government Response Tracker (OxCGRT) และตัวชี้วัดแบบมหภาคอื่นๆ ผลการศึกษาพบว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอบสนองต่อแรงกดดันของสื่อมวลชนและภาคประชาสังคม ซึ่งรัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจไม่ได้รู้สึกถึงความรับผิดรับชอบต่อประชาชนโดยตรงมากนัก เช่นเดียวกับความรับผิดรับชอบต่อกลไกเชิงบริหาร เช่น การตรวจสอบและคานอำนาจ

ส่วนบทความสุดท้ายของ ดร.ปิยรัตน์ ปั้นลี้ เรื่อง “วัฒนธรรมที่มีกลิ่น: การสำรวจกลิ่นหอม การปรุงน้ำหอม และมิติทางสังคมของกลิ่น” (Smelling Culture: Exploring Fragrance, Perfumery, and the Social Dimensions of Scent)” ศึกษาการให้ความหมายกับกลิ่น ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของมนุษย์ ตั้งแต่ กลิ่นในฐานะผัสสะที่ (เคย) ถูกหลงลืม การสำรวจพัฒนาการทางการศึกษากลิ่น และการระเบียบวิธีวิจัยการศึกษากลิ่นทางมานุษยวิทยา จากนั้นอธิบายคุณลักษณะของน้ำหอม ส่วนประกอบทางเคมี และวิธีการอธิบาย ตลอดจนศึกษาประวัติศาสตร์ของน้ำหอม จนถึงส่วนที่เป็นวัฒนธรรมกลิ่นหอม

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

หัวหน้ากองบรรณาธิการ

เผยแพร่แล้ว: 14-12-2023

ฉบับเต็ม

บทบรรณาธิการ

บทความวิจัย

ดูทุกฉบับ