หัวหน้ากองบรรณาธิการ : รศ.ดร.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์
(Chief Editor: Assoc.Prof.Dr. Thanapan Laiprakobsup)
บรรณาธิการบริหาร : ผศ.ดร.สุธรรมา ปริพนธ์เอื้อสกุล
(Managing Editor: Assist.Prof. Dr.Suthamma Paripontueasakul)
Chulalongkorn University Journal of Social Science (CUJSS) is an academic journal of the Faculty of Political Science, Chulalongkorn University. The journal accepts three types of articles for publication: (1) Research articles, (2) Academic articles, and (3) Book reviews. All submitted manuscripts must not have been previously published elsewhere. The journal is published biannually (in June and December). Every article will be evaluated by at least three qualified reviewers according to the process determined by the editorial board.
Article Evaluation
Research articles undergo a double-blinded peer-reviewed process by at least three qualified reviewers through the ThaiJo2.0 system.
บทบรรณาธิการ
บทความในวารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ยังคงมีความหลากหลายในประเด็นศึกษาและองค์ความรู้ทั้งด้านการเมืองการปกครอง ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม อาชญาวิทยา การคลังสาธารณะ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามวัตถุประสงค์ของวารสารสังคมศาสตร์อย่างเหนียวแน่น ความหลากหลายของบทความยังสะท้อนผ่านระดับของหน่วยการศึกษาทั้งระดับปัจเจกบุคคล ชุมชน องค์กรภาครัฐ ประเทศ และระหว่างประเทศ ซึ่งสะท้อนความพยายามของผู้เขียนบทความทั้ง 8 ฉบับในการถกเถียงกับประเด็นพื้นฐานของสังคมศาสตร์ได้แก่ การถกเถียงเรื่องโครงสร้าง-ปัจเจก (Structure-Agent Debate)
บทความทั้ง 8 บทความมีประเด็นร่วมที่สำคัญคือ การเมืองเชิงสังคมของคนชายขอบของการพัฒนา (Societal Politics of Peripheral People in Development) กล่าวคือ บทความให้ความสำคัญกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนากระแสหลัก เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ (Elderly) กลุ่มผู้อพยพ (Immigrants) คนกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Groups) ชาวนาในชนบท (Rural Farmers) ซึ่งต้องการการศึกษาพื้นฐานที่เสนอแนะแนวทางเชิงนโยบายในการปรับปรุงการให้บริการกับกลุ่มคนเหล่านี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างมีส่วนร่วม
ผู้สูงอายุ (Elderly) เป็นกลุ่มคนที่ได้รับความสำคัญในการวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน บทความของ ปริญญา หวันเหล็ม และ ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ เรื่อง “การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและความต้องการในวาระท้ายของผู้ต้องขังสูงวัยในเรือนจำ” ชี้ให้เห็นว่าสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังป่วยต้องเผชิญความยากลำบากในเรือนจำ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยได้ง่าย สภาพแวดล้อมของเรือนจำไม่สอดรับกับวัยสูงอายุ ผู้ต้องขังสูงวัยได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานสากลเทียบเท่าการรักษาในโรงพยาบาลภายนอก ด้วยทีมสหวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในวาระท้ายของชีวิต และความต้องการในวาระสุดท้ายของชีวิตผู้ต้องขังในเรือนจำ คือ การได้ “กลับบ้าน” ที่นับเป็นข้อค้นพบสำคัญ และเป็นความหวังสุดท้ายก่อนสิ้นลมหายใจ ในขณะที่บทความของ เบญจรัตน์ สัจกุล, สุธีรา แสนมนตรีกุล, เพ็ญจันทร์ ประดับมุข เชอร์เรอร์, โกสิน เทศวงษ์, และ เบญจพร พุดซา เรื่อง “การจัดสวัสดิการเพื่อส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อและสร้างความเป็นธรรมทางดิจัลแก่ผู้สูงอายุ” เป็นอีกบทความที่วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่เกิดกับผู้สูงอายุ คณะผู้วิจัยต้องการนำเสนอแนวทางจัดสวัสดิการเพื่อส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ และสร้างความเป็นธรรมทางดิจิทัลแก่ผู้สูงอายุ เพื่อลดการแบ่งแยกเรื่องวัย ขยายอาณาเขตของพื้นที่ทางสังคม และปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุในโลกจริงและโลกเสมือนให้มีความเสมอภาคเช่นเดียวกับวัยอื่น ๆ โดยการนำผลการศึกษาวิจัยมาใช้ประกอบการวิเคราะห์ปรากฎการณ์เหล่านี้ผ่านแนวคิดความเป็นธรรมทางสังคม (Social Justice Theory) ความเป็นธรรมทางดิจิทัล (Digital Justice) และสิทธิมนุษยชนทางดิจิทัล (Digital Human Rights)
ผู้อพยพเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่บทความของ ศิริพงศ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา เรื่อง “การสังเคราะห์ภาวะความเป็นเจ้าบ้านบนพื้นฐานของการวิจัยสังคมเชิงประจักษ์: กรณีศึกษามุมมองเกี่ยวกับผู้อพยพเข้ามาในพื้นที่ปลายทางยอดนิยมของทวีปยุโรป” สังเคราะห์นิยามและองค์ประกอบของแนวคิด “ภาวะความเป็นเจ้าบ้าน” ซึ่งมีรากฐานจากผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงพหุ ระหว่างทัศนคติต่อผู้อพยพเข้ามาในประเทศของตนกับภูมิหลังทางประชากร การเมือง และสังคม ของเจ้าบ้านในพื้นที่ปลายทางยอดนิยมของทวีปยุโรป โดยทัศนคติเชิงบวกต่อผู้อพยพมี 6 ข้อ ได้แก่ 1) การมีส่วนร่วมทางการเมือง 2) การได้รับการตอบสนองความต้องการพื้นฐานอย่างเพียงพอ 3) การมีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์อย่างรอบด้าน ตลอดจนรู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึก 4) การคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะและผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างสมดุล 5) การไม่ยึดติดกับอัตลักษณ์ของตน/พวกพ้องมากเกินไป 6) การมีความเห็นอกเห็นใจ/เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น
บทความของ อภิรัฐ คำวัง เรื่อง “วัฏจักรแห่งอำนาจกับวิถีทางการเมืองของชาวสิงคโปร์เชื้อสายอินเดียภายใต้นโยบายพหุวัฒนธรรม” วิเคราะห์บทบาทของชาวสิงคโปร์เชื้อสายอินเดียในฐานะชุมชนลำดับที่ 3 ภายใต้บริบทนโยบายพหุวัฒนธรรมของสิงคโปร์ โดยศึกษาบูรณาการด้านประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรม และรัฐศาสตร์ โดยชี้ให้เห็นว่าชาวสิงคโปร์เชื้อสายอินเดียสามารถเข้าถึงตำแหน่งสูงสุดในฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นเชิงสัญลักษณ์และตำแหน่งฝ่ายบริหารในระดับสูง อย่างไรก็ดี ตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังเป็นของชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีน สะท้อนการจัดสรรอำนาจระหว่างชนส่วนใหญ่และกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มน้อยในสังคม
เกษตรกรในชนบทเป็นอีกคนกลุ่มหนึ่งที่บทความในวารสารฉบับนี้ให้ความสำคัญ บทความของ วีระ หวังสัจจะโชค เรื่อง “การเมืองและยุทธศาสตร์ของการรวมกลุ่มชาวนา: จาก “นาแปลงใหญ่” สู่ความยืดหยุ่นด้วย “กลุ่มขนาดย่อม”" ศึกษาความยืดหยุ่นปรับตัวของชาวนาต่อบทบาทของรัฐในการส่งเสริมการรวมกลุ่มว่าการรวมกลุ่มของชาวนาผ่านนโยบายนาแปลงใหญ่มีการเมืองและยุทธศาสตร์ตอบสนองต่อนโยบายรัฐในมิติของตัวเอง ผ่านการแย่งชิงทรัพยากรและงบประมาณของรัฐ ผลการศึกษาชี้ว่าชาวนามีความยืดหยุ่นปรับตัวต่อนโยบายรวมกลุ่มของรัฐ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มในมิติที่หลากหลาย บทความของ ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสังคมภาคเกษตรกับเส้นทางสู่ความยากจนข้ามรุ่น: กรณีศึกษาครัวเรือนเกษตรกรจังหวัดอำนาจเจริญ” ชี้ให้เห็นว่าครัวเรือนในภาคการเกษตรที่ยากจนมีความพยายามในการยกระดับฐานะทางสังคมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี แต่ละครัวเรือนก็มีข้อจำกัดและเงื่อนไขในการเลื่อนชั้นทางสังคมที่แตกต่างกัน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสังคมภาคเกษตรที่โอกาส ทรัพยากร และเงินทุน รวมถึงช่องทางการศึกษาของบุตรหลาน เป็นเงื่อนไขในการตัดสินใจด้านการพัฒนาครัวเรือน นอกจากนี้ ปัจจัยเชิงนโยบายที่ถูกกำหนดและนำไปปฎิบัติซ้ำ ๆ โดยไม่ได้คำนึงว่าการนำไปปฎิบัติมีผลกระทบเชิงลบอย่างไรต่อเกษตรกรในพื้นที่ชนบท
ดังนั้นการศึกษานโยบายสาธารณะจึงเป็นงานวิจัยที่สำคัญที่จะช่วยเสนอแนะแนวทางในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่สนับสนุนการพัฒนาของกลุ่มคนในสังคมอย่างยั่งยืน บทความของ วรรณภา ลีระศิริ และภาคภาคภูมิ แสงกนกกุล เรื่อง “เปรียบเทียบการสร้างรัฐสวัสดิการในกลุ่มประเทศตะวันตกและตะวันออก: แนวทางในการทำความเข้าใจการพัฒนารัฐสวัสดิการ” ศึกษาพัฒนาการของรัฐสวัสดิการในกลุ่มประเทศตะวันตกและตะวันออก เพื่อตอบคำถามว่า การนำเอาความสำเร็จของรัฐสวัสดิการตะวันตกมาเป็นต้นแบบเพียงพอและเหมาะสมต่อการสร้างรัฐสวัสดิการของไทยหรือไม่ รัฐสวัสดิการมีหลากหลายรูปแบบ และประวัติศาสตร์เชิงสถาบันมีอิทธิพลต่อการกำหนดเส้นทางการพัฒนารัฐสวัสดิการ การก่อร่างสร้างรัฐสวัสดิการไทยจึงมิอาจลอกเลียนแบบรัฐอื่นได้ทั้งหมด แต่ต้องเข้าใจบริบทและประวัติศาสตร์ของตนเอง ประยุกต์ปรับปรุงให้เหมาะสมกับปัญหาสังคมที่ประสบอยู่ บทความของ ภาวิน ศิริประภานุกูล เรื่อง “ตัวคูณทางการคลัง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย” ประเมินค่าตัวคูณทางการคลัง โดยอาศัยกระบวนการทางเศรษฐมิติที่เป็นที่ยอมรับวงกว้างในปัจจุบัน และพบว่าค่าตัวคูณสะท้อนความไม่มีประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็ก และมีสัดส่วนของภาคเศรษฐกิจนอกระบบในระดับสูง ดังนั้นการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างและยุทธศาสตร์การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนาเป็นแนวทางที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญในระยะยาวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมในอนาคต
ผมขอขอบพระคุณคณบดีและคณะผู้บริหารคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กองบรรณาธิการทุกท่าน ผู้ทรงคุณวุฒิผู้ประเมินบทความทุกท่าน และเจ้าหน้าที่ผู้ช่วงกองบรรณาธิการ ที่สละเวลาอันมีค่าของท่านมาร่วมพัฒนาคุณภาพของบทความในวารสารให้มีความสมบูรณ์แบบและมีคุณภาพเป็นประโยชน์ต่อองค์ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ต่อไปในอนาคต
ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
The Journal of Social Sciences is the official publication of the Faculty of Political Science, Chulalongkorn University | ISSN: 2985-1297 (Print), eISSN: 2985-1386 (Online) | Responsible editors: Assist.Prof. Pandit Chanrochanakit, PhD.| This journal is published under the terms of the Creative Commons Attribution 4.0 International (CC-BY-NC-ND 4.0) by Faculty of Political Science, , Chulalongkorn University, THAILAND