บทความย้อนหลัง

  • cover-vol54no2

    กรกฏาคม - ธันวาคม 2567
    ปีที่ 54 ฉบับที่ 2 (2024)

    บทบรรณาธิการ

    บทความในวารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ยังคงลักษณะที่สำคัญของวารสารสังคมศาสตร์ คือ ความหลากหลายขององค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ และที่เพิ่มเติมในฉบับนี้คือ การให้ความสำคัญกับการเมืองในสังคม (Societal Politics) กับการเมืองในการบริหาร (Administrative Politics) กล่าวคือ บทความส่วนหนึ่งมุ่งวิเคราะห์การเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีผลกระทบต่อการเมืองที่เป็นทางการ เช่น รูปแบบการประท้วง บทความของ เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์ ชื่อ พลังแห่งการอดอาหารประท้วง: การอดอาหารประท้วงทำงานอย่างไร? วิเคราะห์รูปแบบการประท้วงด้วยการอดอาหารซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการประท้วงในหลายประเทศ บทความเสนอว่า การอดอาหารประท้วงมีกลไกการทำงานที่สำคัญได้แก่ การระดมความสนใจในการสื่อสาร, การระดมการสนับสนุนและความเห็นอกเห็นใจ, การบีบบังคับ, และการเบี่ยงเบนสถานะความรับผิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของการเมืองและสังคมได้ บทความของ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ชื่อ ผลกระทบ ผลสะเทือน และสิ่งที่ตามมาขบวนการเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่ปี 2563-2564 ต่อการเมืองและสังคมไทย ชวนมองย้อนให้เห็นผลกระทบของการชุมนุมประท้วงของคนรุ่นใหม่ในปี 2563-2564 ต่อการเมืองที่เป็นทางการและสังคมไทยในภาพรวม โดยผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า การประท้วงของคนรุ่นใหม่ส่งผลต่อการเมืองและสังคมใน 5 มิติ คือ 1) การสร้างพลเมืองหนุ่มสาวที่มีความตื่นตัว 2) ความตื่นตัวอย่างต่อเนื่องของแกนนำเก่าและการสร้างแกนนำการเคลื่อนไหวทางการเมืองรุ่นใหม่ 3) ความสำเร็จในการผลักดันแนวคิดเสรีนิยมให้กลายเป็นแนวคิดกระแสหลัก 4) ความสำเร็จในการสร้างความเป็นสถาบันให้กับพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ และ 5) การเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายและนโยบายในระยะยาว บทความของ มรกตวงศ์ ภูมิพลับ ชื่อ การเมืองของขบวนการนักศึกษาเวียดนามใต้: ชาตินิยมอันหลากหลายในยุคสงครามเย็น วิเคราะห์การเมืองของขบวนการนักศึกษาในเวียดนามใต้ในยุคสงครามเย็น และชาตินิยมที่ซับซ้อนและลื่นไหลจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมของนักศึกษา ด้วยมุมมองทางประวัติศาสตร์ ผู้เขียนพบว่า บริบทของระดับปัญหาทางการเมืองภายใน สภาวะสงครามที่เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น และการเปิดเสรีเรื่องการศึกษาในช่วงนั้น เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในเวียดนามใต้ ซึ่งสามารถนำมาเป็นกรอบในการเปรียบเทียบกับบทบาทของนิสิตนักศึกษาในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี และบทความของ ปิยะพร ตันณีกุล และ วชิรวิชญ์ อิทธิธนาศุภวิชญ์ ชื่อ นโยบายและการสร้างเครือข่ายลดความรุนแรงจากอาวุธปืน วิเคราะห์รูปแบบของการสร้างเครือข่ายลดความรุนแรงจากอาวุธปืนและการกำหนดแนวนโยบายการลดความรุนแรงจากอาวุธปืน โดยพบว่า การสร้างเครือข่ายและการกำหนดนโยบายมาจากฐานชุมชนเป็นสำคัญและการสร้าง “ธรรมนูญชุมชนลดความรุนแรงจากอาวุธปืน”

    ส่วนบทความของ วรากร วิมุตติไชย และ ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ชื่อ การโอบรับเดธทิวิตี: ว่าด้วยการสำรวจภูมิทัศน์ความตายผ่านกิจกรรมในบริบทกรุงเทพร่วมสมัย สำรวจปรากฏารณ์การโอบรับกิจกรรมเรื่องตายในบริบทของสังคมเมืองสมัยใหม่ของคนเมืองที่จะเปลี่ยนภูมิทัศน์ของความตายด้วยการประกอบสร้างความหมายใหม่ผ่านตัวแสดง คือ เทคโนโลยีดิจิทัล การทำให้เป็นสาธารณะ และการทำความตายให้เป็นกิจกรรมมากขึ้น ทั้งนี้ การเปิดกว้างและการมีส่วนร่วมทำให้เดธทิวิตีกลายเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้เรื่องตายของสังคมสมัยใหม่ ส่วนบทความของ สุทธิชัย  รักจันทร์ ชื่อ การแปรเปลี่ยนทุนทางเศรษฐกิจ -วัฒนธรรมสู่ทุนทางการเมือง: กรณีศึกษากีฬาวัวชนในจังหวัดพัทลุง อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยยกกรณีศึกษากีฬาวัวชนในภาคใต้ ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ดังกล่าว นัยยะที่สำคัญคือ ผสานอำนาจผ่านอำนาจทางสังคมเข้าไปสานสัมพันธ์เพื่อจัดให้การแข่งกีฬาชนวัว ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่มีชื่อเสียง น่าเคารพ น่าเชื่อถือ และความไว้วางใจส่งผลให้เกิดผู้นำบารมีท้องถิ่น แล้วนักการเมืองท้องถิ่นพัทลุงใช้ทุนทางการเมืองผสานระหว่างทุนวัฒนธรรมและทุนทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นประโยชน์ต่อการรักษาฐานเสียงโดยอ้อมกับประชาชนจำนวนมากที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 

    ในขณะที่ บทความอีกกลุ่มมุ่งวิเคราะห์ผลกระทบของกฎระเบียบและกระบวนการในการบริหารคนและองค์กรที่มีผลกระทบต่อสังคมในภาพรวม บทความของ สุรพล ศรีวิทยา ชื่อ การบังคับใช้กฎหมายไทยตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงอาเซียนทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยศึกษาประวัติพัฒนาการแนวคิดและหลักพื้นฐานของพันธกรณีภายใต้ความตกลงอาเซียนทางด้านสิ่งแวดล้อมในประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน โดยพบว่า ในส่วนของประเทศไทยได้ดำเนินการปฏิบัติตามความตกลงอาเซียนทางด้านสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค และการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ความความร่วมมืออาเซียนทางด้านสิ่งแวดล้อมและความตกลงสิ่งแวดล้อมพหุภาคี (MEAs) ส่วนบทความของ พิมพ์สิริ อรุณศรี ชื่อ การศึกษาการเรียนรู้ของผู้เข้าชมคนไทยในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เป็นการศึกษาระดับการมีปฏิสัมพันธ์กับนิทรรศการวิทยาศาสตร์ของผู้เข้าชมชาวไทย พร้อมทั้งปัจจัยบริบทที่มีผลต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อการเรียนรู้ในนิทรรศการวิทยาศาสตร์ โดยพบว่า เข้าชมกลุ่มผู้ปกครองและกลุ่มบุตรหลานส่วนใหญ่มีระดับการปฏิสัมพันธ์ต่อนิทรรศการอยู่ที่ระดับเปลี่ยนผ่านไปสู่ปฏิสัมพันธ์ที่ลึกขึ้น (Transitioning behavior) ถึงระดับปฏิสัมพันธ์ขั้นลึก (Breakthrough behavior) อย่างไรก็ดี ต้องเพิ่มเติมเรื่องสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้ผู้เข้าชมเข้าใจการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และความเกี่ยวข้องของวิทยาศาสตร์กับชีวิตประจำวันของตน

    สุดท้ายนี้ ในนามของกองบรรณาธิการ ผมขอขอบพระคุณผู้เขียนทุกท่าน คณะผู้ประเมินบทความทุกท่าน กองบรรณาธิการทุกท่าน และทีมงานวารสารฯ ที่ช่วยทำให้วารสารฉบับนี้มีความสมบูรณ์แบบ พัฒนาองค์ความรู้จากการวิจัยอย่างเป็นระบบอันเป็นศาสตร์ที่สำคัญ มีเสน่ห์ และกลิ่นอายของสังคมศาสตร์ที่เป็นศิลป์ที่สำคัญอีกด้วย ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านจะได้รับประโยชน์จากบทความทั้ง 8 ชิ้นในฉบับนี้ไม่มากก็น้อย

    ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์

    หัวหน้ากองบรรณาธิการ

  • มกราคม - มิถุนายน 2567
    ปีที่ 54 ฉบับที่ 1 (2024)

    บทบรรณาธิการ

    บทความทั้ง 8 บทความในฉบับนี้มาความหลากหลายในแง่มุมขององค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์เป็นอย่างมากและยังมีความหลากหลายในแง่มุมของผู้ประพันธ์ที่มาจากหลากหลายสาขาวิชาทั้งสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ บทความของ อุเชนทร์ เชียงเสน เรื่อง ระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง: กรอบแนวคิด การเลือกตั้งในระบบอำนาจนิยม และการควบคุมบงการ สำรวจแนวคิด “อำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง (Electoral Authoritarianism)” ที่กำลังได้รับความสำคัญจากนักรัฐศาสตร์ในหลายประเทศ อุเชนทร์ พบว่าระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ปกครองในหลายประเทศและแตกกิ่งก้านสาขาของสถาบันและกลไกการเลือกตั้งเพื่อการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ปกครอง ส่วนบทความของ สุพิชฌาย์ ปัญญา เรื่อง แนววิเคราะห์หลังสังคมนิยมและกรณีศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศึกษาแนวคิดหลังสังคมนิยมในประเทศที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งนักรัฐศาสตร์ให้ความสำคัญกับการปฎิรูปเศรษฐกิจและการค้าของกลุ่มประเทศเป็นสำคัญ จนทำให้เกิดข้อโต้แย้งจากนักรัฐศาสตร์สายอาณาบริเวณศึกษาซึ่งให้ความสำคัญกับความหลากหลายในประเด็นการศึกษาในกลุ่มประเทศเหล่านี้

    ในขณะที่ บทความในฉบับนี้ยังศึกษาบทบาทของผู้คนที่อยู่ในโครงสร้างส่วนล่างหรือกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม บทความของ มารค ตามไท และงามศุกร์ รัตนเสถียร เรื่อง ขบวนการเอกราชใน Catalonia ศึกษาความเป็นมาและบทบาทของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชในแคว้นคาตาโลเนีย (Catalonia) ประเทศสเปน ซึ่งพยายามที่จะแสวงหาพื้นที่นการเรียกร้องสิทธิของตนเองและผ่านการปราบปรามมาโดยตลอดจนสามารถมีพื้นที่ทางการเมืองในการแสดงความคิดเห็นของตนเอง ส่วนบทความของ วัชรารินทร์ วงศ์-ษานิติ เรื่อง การปรับตัวและการต่อรองของชุมชนชาติพันธุ์ต่อนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยรัฐ: กรณีศึกษาชุมชนบ้านกลาง และชุมชนบ้านฮ่าง จังหวัดลำปาง ศึกษากระบวนการจัดสรรทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดลำปางท่ามกลางบริบททางการเมืองแบบอำนาจนิยมในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนพบว่า ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อการจัดการทรัพยากรใช้วิธีการในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การรณรงค์ในพื้นที่หรือสื่อสังคมออนไลน์ ในการผลักดันประเด็นจนหน่วยงานภาครัฐยอมรับบทบาทของขบวนการในพื้นที่

    บทความในฉบับนี้มีการวิจัยเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะ เช่น การพัฒนาเมือง สาธารณสุข การใช้ความรุนแรงในสังคม และความมั่นคงทางอาหาร บทความของ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ชื่อ บทสำรวจชีวิตของคนจนเมืองหลุดระบบ: กรณีศึกษาคนจนเช่าบ้าน/ห้องในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับภาวะที่อยู่อาศัยของคนจนในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งผู้เขียนพบว่ากลุ่มคนจนและคนเช่าบ้านยังขาดความมั่นคงในระบบการเข้าถึงที่อยู่อาศัยในราคาที่สามารถจ่ายได้ ผู้เขียนเสนอให้มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้เขียนยังเสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานระดับกระทรวงที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยโดยตรง ส่วนบทความของ อุดม ทุมโฆษิต จันทรานุช มหากาญจนะ อลงกต สารกาล สุพัฒน์-จิตร ลาดบัวขาว และ กรณ์ หุวะนันทน์ เรื่อง การประเมินผลระบบอภิบาลระบบสุขภาพปฐมภูมิของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ได้รับการถ่ายโอนไปสู่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ปีงบประมาณ 2566 ซึ่งพบปัญหาของการพัฒนาระบบอภิบาลปฐมวัยในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาในเชิงรูปแบบและกระบวนมากกว่าการพัฒนาในเชิงสาระของระบบ ดังนั้นการสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบอภิบาลปฐมวัย บทความของ พร ทิสยากร ธันวัน เจริญไชยเนาว์ เหมือน-เพชร ราชายนต์ วิชยุตม์ เพศยนาวิน และ พิมพ์ประพันธ์ อุไรกุล ชื่อ ความชุก ลักษณะทางประชากรและทางคลินิกของเหตุการณ์สังหารหมู่และกราดยิงในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2537-2566 และข้อเสนอแนะจากการวิเคราะห์ทางจิตเวชศาสตร์ เกี่ยวกับการสังหารหมู่และการกราดยิงในประเทศไทยช่วง 30 ปีที่ผ่านมาซึ่งพบรูปแบบการสังหารหมู่ เช่น เพศชายมีแนวโน้มเป็นผู้ก่อเหตุโดยใช้อาวุธปืนและมีการใช้สารเสพติด หากจะเข้าใจรูปแบบการใช้ความรุนแรงในลักษณะนี้จำเป็นที่จะต้องสร้างฐานข้อมูลและศึกษาเหตุการณ์ในหลากหลายแง่มุมเพื่อการกำหนดแนวทางการป้องกันต่อไปในอนาคต ส่วนบทความสุดท้ายของ ปิยรัตน์ ปั้นลี้ จากจอบสู่จาน: เชพส์ เทเบิล การกินอย่างมีหลักการ และภูมิทัศน์อาหารไทย ซึ่งศึกษากระบวนการเดินทางของอาหารจากการผลิตสู่จานและการพัฒนาอาหารโดยการขายรายละเอียดและข้อมูลของที่มาของอาหารและเชฟ หรือภูมทัศน์ของอาหาร ดังนั้นการส่งเสริมธุรกิจอาหารจำเป็นต้องคำนึงถึงการพัฒนาเชิงกระบวนการและสาระของธุรกิจโดยภาพรวม

    ท้ายที่สุดนี้ ผมขอขอบคุณผู้เขียนทุกท่านที่สร้างสรรค์ผลงานที่มีประโยชน์และช่วยพัฒนาองค์ความรู้ในสาขาต่าง ๆ ในทางสังคมศาสตร์และเกี่ยวข้องกับมิติต่าง ๆ ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)  ผู้ประเมิน (Reviewers) ที่มีความเข้มแข็งในการประเมินและให้ความเห็นต่อบทความทุกบทความอย่างจริงจังและมีประโยชน์ กองบรรณาธิการทุกท่าน (Editorial Board Members) ที่ช่วยเสนอแนะคณะผู้ประเมินในแต่ละบทความซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาบทความ เจ้าหน้าที่วารสาร (Editorial Staff) ซึ่งประสานงานในด้านต่างๆ จนสำเร็จลุล่วง และคณะรัฐศาสตร์ ที่สนับสนุนให้การดำเนินงานของวารสารสังคมศาสตร์เป็นไปด้วยความราบรื่นจนทำให้วารสารสังคมศาสตร์เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับชุมชนวิชาการที่เกี่ยวข้องและสาธารณะต่อไป     

    รองศาสตราจารย์ ดร.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์

    หัวหน้ากองบรรณาธิการ

  • cover-vol53no2

    กรกฏาคม - ธันวาคม 2566
    ปีที่ 53 ฉบับที่ 2 (2023)

    บทบรรณาธิการ

    วารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ประกอบด้วยบทความ 8 บทความ ได้แก่

    บทความเรื่อง “ถกคิด ‘การอภิบาล’ (governance) ในประเทศไทยผ่านงานวิจัยและหลักสูตรการสอนในมหาวิทยาลัย (Debating ‘Governance’ in Thailand through Research and Higher Education Programs)” โดย เอกวีร์ มีสุข ธีรพัฒน์ อังศุชวาล วีระ หวังสัจจะโชค และชุติเดช เมธีชุติกุล ให้ภาพของการนำเอาแนวคิดเรื่องอภิบาล (governance) มาใช้ในการอุดมศึกษา ซึ่งถูกลดทอนให้เหลือเพียงด้านที่เป็นธรรมาภิบาล (good governance) ทำให้แนวคิดด้านการศึกษาแบบอื่นถูกลดทอนความสำคัญและความหมายลง

    บทความของ ดร.พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง เรื่อง “รัฐธรรมนูญนิยมและความเป็นพลเมืองไทยในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาสาธารณรัฐนิยมสมัยใหม่สากล (Thai constitutionalism and citizenship as a part of the global intellectual history ofmodern republicanism (1885-1947))” ศึกษาประวัติความคิดของ “รัฐธรรมนูญนิยม” และ “ความเป็นพลเมืองในสยาม/ไทย” ในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาสาธารณรัฐนิยมสมัยใหม่สากล ระหว่างปี ค.ศ. 1885 ซึ่งเป็นช่วงที่คำกราบบังคมทูลความเห็นเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2428 ถูกเผยแพร่ จนถึงปี ค.ศ. 1932 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

    ดร. ชฎิล โรจนานนท์ และ ดร. นภา วรวรางกูร ในบทความ “การเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการส่วนกลางที่มีผลต่อการใช้เงินสะสมของ อปท. ขนาดใหญ่ในการจัดบริการสาธารณะ (Changes in Central Government Regulations Affect the Use of Accumulated Funds from Large Local Administrative Organizations to Provide Public Services)” ศึกษา เงินสะสมของ อปท. ที่มีปริมาณอยู่ในระดับสูง ถือเป็นการสูญเสียโอกาสการพัฒนาของท้องถิ่น โดยเฉพาะ อปท. ขนาดใหญ่ กระทรวงมหาดไทยฯ พ.ศ. 2547 ได้แก้ไขระเบียบเพื่อปรับโครงสร้างสัดส่วนในการกันทุนสำรองเงินสะสมมาอยู่ที่ร้อยละ 15 นำไปสู่การเพิ่มพื้นที่การคลังในการจัดบริการสาธารณะ แต่ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมให้ อปท. ได้ใช้เงินสะสมเพิ่มขึ้น

    รศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา และ อุเชนทร์ เชียงเสน ในบทความ “พลวัตของปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง: กรณีศึกษาการเคลื่อนไหวของเยาวชนในปี 2563-2564 (The Dynamics of Nonviolent Action Amidst Political Conflict: A Case Study of the 2020-2021 Youth Movement)” ศึกษาการเคลื่อนไหวของขบวนการเยาวชนช่วงปี 2563-2564 เพื่อทำความเข้าใจเงื่อนไขในทางปฏิบัติที่ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวที่เริ่มต้นจากความตั้งใจที่จะใช้สันติวิธี โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก 60 คน จัดกิจกรรมสนทนากลุ่ม และใช้แนวคิดปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงที่ให้ความสำคัญกับความรู้จากประสบการณ์ของผู้เคลื่อนไหว และการรับมือของรัฐ และมีข้อค้นพบ สามประเด็น ได้แก่ ประการแรก การยกระดับความรุนแรงเกิดจากปฏิสัมพันธ์โต้ตอบระหว่างฝ่ายรัฐกับผู้ชุมนุม ทั้งสองฝ่ายจึงมีส่วนต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น ประการที่สอง ผู้ร่วมเคลื่อนไหวบางส่วนต้องการตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ การห้ามปรามจึงไร้ผล ทางเลือกที่เป็นไปได้คือการช่วยให้ผู้ชุมนุมที่ไม่ต้องการปะทะได้ออกจากพื้นที่เสี่ยง สาม รัฐมีพัฒนาการปราบปรามผู้ชุมนุมที่รักษาความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงได้

    บทความ “การศึกษาวิเคราะห์บทบาทบริษัทข้ามชาติจีนในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน จังหวัดระยองต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนผ่านแนวคิด “การทูตสามเหลี่ยม” (An analytical study of the role of Chinese Multinational Companies in the Thai-Chinese Industrial Area, Rayong Province for the Development of Thai-China Relations through the Concept of “Triangular Diplomacy”)”  โดย พรภวิษย์ หล้าพีระกุล และ แอนนี คำสร้อย ศึกษาบทบาทและความสำคัญของบริษัทข้ามชาติจีนในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไทน-จีน ในจังหวัดระยอง พบประเด็นน่าสนใจคือการเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกในต่างประเทศของจีน ซึ่งผ่านการผลักดันมายาวนาน อีกทั้งยังมีปัจจัยเสริมภายในของไทยเอง ได้แก่นโยบาย EEC ที่สอดรับกับ BRI ของจีน

    บทความของ ผศ. ดร.ฐานิดา บุญวรรโณ เรื่อง “รอคอยข้ามรุ่น: มานุษยวิทยาว่าด้วยเวลาที่รอคอยของคนยากจนกับนโยบายสังคมของไทย (Waiting over generations: Anthropology of the Poor’s Waiting Time and Thailand Social Policy)” ศึกษาครัวเรือนในจังหวัดพิษณุโลกที่มีฐานะยากจน โดยชี้ว่า ความยากจนข้ามรุ่นดำรงอยู่เนื่องจากนโยบายการศึกษาและนโยบายสังคมอื่นๆที่เกี่ยวข้องไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่นได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพส่งผลให้คนจนจากหนึ่งรุ่นสู่รุ่นสูญเสียโอกาสในชีวิตมากมาย โดยความจนข้ามรุ่นส่งนัยยะสามประการ ได้แก่ หนึ่ง การดำรงอยู่ของความยากจนและถูกส่งผ่านข้ามรุ่น สอง ช่วงเวลาของการรอคอยทำให้สูญเสียโอกาสในชีวิต ตั้งแต่การหลุดออกจากระบบการศึกษาและกลายเป็นแรงงานกึ่งทักษะกึ่งไร้ทักษะ สาม นโยบายการศึกษามีส่วนช่วยขยายโอกาสในชีวิตของคนยากจน แต่อาจยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการตัดตอนวงจรความยากจนข้ามรุ่น

    บทความของ ผศ.ดร.สุรัชนี ศรีใย เรื่อง “PoliSEAmaking: Accountabilities in Economic Responses to COVID-19 of Southeast Asian Governments (ความรับผิดรับชอบและการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 ของรัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)” ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างความรับผิดรับชอบของรัฐบาลและปฏิกิริยาต่อวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านกรอบคิดเรื่อง competing principals ชี้ให้เห็นว่าความรู้สึกรับผิดรับชอบของรัฐบาลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ไม่เท่ากัน และส่งผลต่อผลิตผลเชิงนโยบาย โดยอาศัยข้อมูลเชิงปริมาณและการเก็บสถิติเรื่องการให้การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจาก The Oxford COVID-19 Government Response Tracker (OxCGRT) และตัวชี้วัดแบบมหภาคอื่นๆ ผลการศึกษาพบว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอบสนองต่อแรงกดดันของสื่อมวลชนและภาคประชาสังคม ซึ่งรัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจไม่ได้รู้สึกถึงความรับผิดรับชอบต่อประชาชนโดยตรงมากนัก เช่นเดียวกับความรับผิดรับชอบต่อกลไกเชิงบริหาร เช่น การตรวจสอบและคานอำนาจ

    ส่วนบทความสุดท้ายของ ดร.ปิยรัตน์ ปั้นลี้ เรื่อง “วัฒนธรรมที่มีกลิ่น: การสำรวจกลิ่นหอม การปรุงน้ำหอม และมิติทางสังคมของกลิ่น” (Smelling Culture: Exploring Fragrance, Perfumery, and the Social Dimensions of Scent)” ศึกษาการให้ความหมายกับกลิ่น ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของมนุษย์ ตั้งแต่ กลิ่นในฐานะผัสสะที่ (เคย) ถูกหลงลืม การสำรวจพัฒนาการทางการศึกษากลิ่น และการระเบียบวิธีวิจัยการศึกษากลิ่นทางมานุษยวิทยา จากนั้นอธิบายคุณลักษณะของน้ำหอม ส่วนประกอบทางเคมี และวิธีการอธิบาย ตลอดจนศึกษาประวัติศาสตร์ของน้ำหอม จนถึงส่วนที่เป็นวัฒนธรรมกลิ่นหอม

    บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

    หัวหน้ากองบรรณาธิการ

  • cover-vol53no1

    มกราคม - มิถุนายน 2566
    ปีที่ 53 ฉบับที่ 1 (2023)

    บทบรรณาธิการ

    วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 53 ฉบับที่ 1 (เดือนมกราคม – มิถุนายน 2566) ประกอบด้วย 8 บทความ ดังนี้

    บทความ “Revisiting the Geography of Globalisation in the Covid-19 Pandemic using Risk Theory” โดย ดร.กุลพธู ศักดิ์วิทย์ ใช้แนวความคิด risk society ของ Ulrich Beck มาวิเคราะห์ภูมิศาสตร์ของโลกาภิวัฒน์ในระหว่างโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งกุลพธูโต้ว่าในระหว่างโรคระบาดทำให้เกิดการพึ่งพิงด้านความรู้และวัคซีน การพึ่งพาระหว่างภูมิภาคและภาคพื้นยุโรป ตลอดจนการปะทะประสานระหว่างการพึ่งพิงระดับโลกกับการพึ่งพิงในระดับนานาชาติผ่านกลไก COVAX แต่กุลพธูยังเห็นว่ารัฐชาติมีบทบาทสำคัญยิ่งในโลกที่กำลังมีความเสี่ยงนี้

    บทความ “องค์การการค้าโลกกับบทบาทในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม" โดย ผศ. วิลาสินี วดีศิริศักดิ์ และ นิศาชล พรหมรินทร์ ศึกษามาตรการด้านสิ่งแวดล้อมขององค์การการค้าโลกในการพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว ตลอดจนผลสำเร็จของการบูรณาการมาตรการขององค์การการค้าโลก แม้ผลการศึกษาจะยังเห็นข้อบกพร่องต่างๆ แต่ก็ไม่ถือว่าประสบความล้มเหลวและยังมีความพยายามที่เป็นรูปธรรมขององค์การการค้าโลกในการดำเนินการตามมาตรการเหล่านั้นอยู่

    บทความ “การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เมืองรอง: กรณีศึกษากลุ่มจังหวัดอีสานใต้ ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ” โดย ศ. ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ และพิชยารัชต์ กิติวุฒิศักย์ มุ่งเสนอกรอบแนวคิดและแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยการศึกษาเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาพบว่าบรรดาเมืองในกลุ่มอีสานใต้ควรต้องพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวและทดลองกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเข้าถึงอัตลักษณ์และทรัพยากรของแต่ละจังหวัด

    ส่วนบทความ “การประกอบสร้างภาพลักษณ์ของโรงเรียนมัธยมศึกษาในนโยบายการรับนักเรียนเข้าเรียนของสำนักงานคณะ กรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน: ความเหลื่อมล้ำในคราบของการจัดสรรเพื่อความเป็นธรรม” ของ ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์ ใช้การวิเคราะห์นโยบายเชิงตีความ (Interpretative Policy Analysis) การวิเคราะห์กรอบการจำแนกแยกแยะ (Category Analysis) และการประกอบสร้างกลุ่มเป้าหมายของนโยบาย (Social Construction of target population) เพื่อทำความเข้าใจการประกอบสร้างภาพลักษณ์และผลของการประกอบสร้างภาพลักษณ์โรงเรียนอัตราแข่งขันสูงกับโรงเรียนทั่วไปว่ามีผลส่งเสริม แก้ไขหรือซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาอย่างไร

    บทความ “เศรษฐกิจพอเพียงกรอบคิดการพัฒนาชุมชนชาติพันธุ์ของรัฐไทย การวิพากษ์ความเปลี่ยนแปลง วิถีชีวิต กิจกรรมทางเศรษฐกิจ บริบททางสังคมและชุมชนของชนเผ่าในบริเวณศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย จังหวัดเชียงใหม่” ของ วสันต์ ปวนปันวงศ์ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอยกับชุมชนชนเผ่าบริเวณดังกล่าวพบว่าการนำนโยบายรัฐตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจากส่วนกลางเข้าสู่พื้นที่ชายขอบเป็นความสัมพันธ์เชิงเกื้อหนุนมากกว่าการคุกคามและบังคับ

    บทความ “การเมืองของชนชั้นนำในเวียดนามกับสิ่งท้าทายใหม่ในโลกปั่นป่วน” โดย ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์ และสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ศึกษาการเมืองของชนชั้นนำในเวียดนามที่ได้รับการค้ำยันสองชุดได้แก่ ความชอบธรรมทางอุดมการณ์ที่กล่าวถึงการปลดปล่อยตัวเองจากอาณานิคมฝรั่งเศสและเปลี่ยนเป็นอำนาจรวมศูนย์โดยพรรคคอมมิวนิสต์ และความชอบธรรมผ่านการปฏิรูปโด่ยเหมยในปี 1986 ซึ่งทั้งสองใช้แนวคิดของ Huntington ที่มองว่าความสำเร็จทางเศรษฐกิจจะนำมาซึ่งข้อเรียกร้องประชาธิปไตยเพราะกลุ่มคนที่มั่งคั่งจะกลายเป็นกลุ่มกดดันทางการเมืองทีมีพลัง ผลการศึกษาพบว่าแม้จะเกิดชนชั้นนำใหม่ในเวียดนามแต่ก็ไม่ได้ท้าทายอำนาจนำของพรรคคอมมิวนิสต์โดยตรง เพราะพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นปรปักษ์หรืออุปสรรคในการสะสมทุน แต่สิ่งที่ท้าทายอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์ก็คือกลุ่มคนที่ละเลยหรือพลาดโอกาสในการพัฒนาซึ่งสามารถใช้เครื่องมือใหม่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในการแสดงออกและเรียกร้องสิทธิทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ต้องหาทางตอบโต้ หรือกำจัดในที่สุด

    บทความ “ประธานาธิบดีอินเดีย : พหุลักษณ์และปณิธาน” ของ อภิรัฐ คำวัง วิเคราะห์สังคมพหุลักษณ์และปณิธานผ่านตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งเขาเห็นว่าการคัดเลือกผู้สมัครประธานาธิบดีกระทำผ่านพรรคการเมืองและพันธมิตรเพื่อหาผู้เหมาะสม และมีความโน้มเอียงในการตัดสินใจตามคณะเลือกตั้งของพรรค และสุดท้ายบริบททางสังคมมีส่วนกำหนดอัตลักษณ์ของบุคคลสำคัญอย่างประธานาธิบดีกลายมาเป็นต้นแบบปณิธานของสังคมได้

    บทความสุดท้าย “การวิเคราะห์เครือข่ายนโยบายในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวในเขตกรุงเทพมหานคร” ของ แพรพลอย วัฒนะโชติ และ ผศ. ดร. ปรีชญาณ์ นักฟ้อน ศึกษาบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงในเครือข่ายนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวในเขตกรุงเทพมหานคร โดยการวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาพบว่ากรุงเทพมหานครยังเป็นตัวแสดงหลักเนื่องจากมีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ และมีการใช้แนวคิดการบริหารสาธารณะแนวใหม่ที่พบว่ามีความสัมพันธ์ในเชิงบูรณาการกับหน่วยงานภายในและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยอิสระจากกรุงเทพมหานครที่มาจากการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวอีกด้วย

    บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

  • กรกฎาคม - ธันวาคม 2565
    ปีที่ 52 ฉบับที่ 2 (2022)

    บทบรรณาธิการ

    วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 52 ฉบับที่ 2 ประกอบด้วยบทความ 8 บท ดังนี้

    บทความแรก พิรงรอง รามสูต, พิมลพรรณ ไชยนันท์ และ วิโรจน์ สุทธิสีมา เรื่อง “ห้องแห่งเสียงสะท้อนออนไลน์กับผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562” ทำการสำรวจภาวะห้องแห่งเสียงสะท้อน (echo chamber) จากการสื่อสารทางการเมืองในพื้นที่ออนไลน์ของผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกระหว่างการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะของห้องแห่งเสียงสะท้อนในพื้นที่ออนไลน์กับทัศนคติทางการเมือง ตลอดจนปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะห้องแห่งเสียงสะท้อน

    บทความของ สุมนทิพย์ จิตสว่าง, นัทธี จิตสว่าง และ แสงโสม กออุดม เรื่อง “แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556” ทำการศึกษาแนวทางการบังคับใช้กฎหมายการป้องกันปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติของต่างประเทศ ทำการประเมินผลการดำเนินงานและผลกระทบของการบังคับใช้ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 และได้เสนอแนะแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวด้วย

    ส่วน ธวัฒชัย ปาละคะมาน ในบทความ “การวิเคราะห์เชิงสถาบันของระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับอุทกภัยในประเทศไทย: กรณีศึกษา อุทกภัยจากอิทธิพลพายุโซนร้อนปาบึก พ.ศ. 2562 ในจังหวัดนครศรีธรรมราช” ทำการทบทวนบริบทและแนวคิดระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับอุทกภัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และศึกษาการบริหารจัดการของระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับอุทกภัยของประเทศไทยในเหตุการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลพายุโซนร้อนปาบึกในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ในท้ายบทความมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการเสริมสมรรถนะกลไกเชิงสถาบันของระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับอุทกภัยของประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

    สำหรับบทความของ เผ่าไทย สินอำพล เรื่อง “การมีส่วนร่วมในกระบวนการที่ไม่มีส่วนร่วม?: มุมมองต่อการจัดการน้ำหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554” การปฏิรูปโครงสร้างการอภิบาลน้ำของไทยเกิดขึ้นหลังจากกรณีน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554 บทความนี้สะท้อนความก้าวหน้าและความท้าทายในการจัดการน้ำของประเทศไทยภายใต้กรอบแนวคิดการอภิบาลน้ำแบบมีส่วนร่วม และชี้ให้เห็นว่าแม้การจัดการน้ำในปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญต่อวิถีชีวิตผ่านการใช้พื้นที่รับน้ำนองและโครงการจัดการน้ำชุมชนด้วยข้อมูลสารสนเทศ แต่ยังคงความรวมศูนย์อำนาจเอาไว้ จึงมิได้ทำให้เกิด “จุดเปลี่ยนแห่งความร่วมมือ” อย่างแท้จริงและควรมีระบบที่สอดคล้องความต้องการของประชาชนมากกว่านี้

    วรัชยา เชื้อจันทึก ในบทความ “การบริหารจัดการภัยพิบัติภายใต้ยุทธศาสตร์การเตรียมพร้อมแห่งชาติ (พ.ศ. 2560-2564): กรณีศึกษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา” ศึกษาระดับการบริหารจัดการภัยพิบัติภายใต้ยุทธศาสตร์การเตรียมพร้อมแห่งชาติ (พ.ศ. 2560-2564) และเพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการภัยพิบัติภายใต้ยุทธศาสตร์การเตรียมพร้อมแห่งชาติ (พ.ศ. 2560-2564)

    สุรัตน์ โหราชัยกุล และ สิริกร ธารีรัตนาวิบูลย์ ศึกษาเรื่อง “อินเดียกับการจัดการจลาจลในกรณีแคชเมียร์” ได้ชี้ว่า อินเดียเผชิญความท้าทายด้านความมั่นคงในหลายประการตั้งแต่แรกเริ่มได้รับเอกราช หนึ่งในนั้นคือการก่อจลาจลในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับแคชเมียร์หรือในแคชเมียร์ ปัญจาบภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนักซาไลต์ ผู้เขียนพยายามตอบคำถามว่าอินเดียมีวิธีจัดการกับปัญหาจลาจลในแคชเมียร์อย่างไร และเสนอข้อโต้แย้งสองประการ คือ ประการแรก ปัจจัยภายนอกมีผลต่อการก่อจลาจลในแคชเมียร์อย่างยิ่ง ส่งผลให้รัฐบาลอินเดียแก้ปัญหาได้ยากลำบาก ประการที่สอง การแก้ปัญหาแคชเมียร์ของอินเดียมีหลักคิดและวิธีตรงกับกรอบความมั่นคงแบบดั้งเดิมและกรอบความมั่นคงของมนุษย์ผสมผสานกัน

    ส่วนบทความของ อันวาร์ กอมะ และ เอกรินทร์ ต่วนศิริ “เงื่อนไขไตรลักษณ์ของความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐต่อมุสลิมชนกลุ่มน้อย: ศึกษาเทียบเคียงกรณีโรฮีนจาในรัฐยะไข่ของเมียนมากับกรณีมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย” ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับมุสลิมชนกลุ่มน้อยในประเทศเมียนมาและไทย โดยใช้กรณีของโรฮีนจาในรัฐยะไข่เทียบเคียงกับกรณีของมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งสองคนชี้ว่าถึงแม้ว่าเมียนมาและไทยต่างมีผู้นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นส่วนใหญ่ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและมุสลิมชนกลุ่มน้อยของทั้งสองประเทศก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน และเสนอว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมมีความแตกต่างกันตามความสัมพันธ์ที่เขาเรียกว่า “เงื่อนไขไตรลักษณ์” ได้แก่ มุมมองของรัฐต่อมุสลิมชนกลุ่มน้อย อิทธิพลของขบวนการพุทธชาตินิยม และความอ่อนแอของมุสลิมชนกลุ่มน้อย

    บทความสุดท้ายในฉบับ ชนิดา จิตตรุทธะ  เรื่อง “วัฒนธรรมสร้างสรรค์ขององค์การสมองซีกขวาที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมองค์การระดับโลก: ศึกษากรณีวัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย” ศึกษาลักษณะการใช้แนวคิดวัฒนธรรมสร้างสรรค์ขององค์การสมองซีกขวาในการสร้างนวัตกรรมองค์การ ตลอดจนศึกษามาตรการเพื่อส่งเสริมและประยุกต์ใช้กับองค์การภาครัฐโดยอาศัยการบูรณาการข้ามศาสตร์โดยมองไปที่การสร้างสรรค์ในวัดร่องขุ่น

     บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

  • มกราคม - มิถุนายน 2565
    ปีที่ 52 ฉบับที่ 1 (2022)

    บทบรรณาธิการ

    วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 52 ฉบับที่ 1 ประกอบด้วยบทความ 8 บท ดังนี้

    บทความของพวงทอง ภวัครพันธุ์  “การสร้างรัฐเสนานุภาพของไทย จากรัฐประหาร 2490 ถึงรัฐประหาร 2557” ชี้ให้เห็นถึงอำนาจทางการเมืองของทหารไทย ระหว่าง พ.ศ. 2490 จนถึง 2557 ผ่านมโนทัศน์รัฐเสนานุภาพ (praetorianism) ที่มองการสถาปนาอำนาจของทหารผ่านระบบกฎหมาย มีการใช้อำนาจบริหารประเทศและอำนาจเหนือกิจการความมั่นคงภายใน ซึ่งมีระดับที่แตกต่างกันในแต่ละยุค พวงทองชี้ว่ารัฐเสนานุภาพไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการปกป้องสถาบันกษัตริย์ และเห็นว่าแนวคิด “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เป็นทั้งอุดมการณ์ พันธกิจและเป็นแหล่งอ้างอิงความชอบธรรมของกองทัพ ในบทความชี้ให้เห็นถึงความร่วมมือกันระหว่างกองทัพกับพันธมิตรในเครือข่ายรอยัลลิสต์ ผลก็คือรัฐเสนานุภาพไทยสามารถผลักดันนโยบายการพัฒนาไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งทำให้กองทัพมีบทบาทต่อการเมืองไทยและส่งอิทธิพลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลพลเรือนได้

    บทความ “ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ภายใต้ระบอบ คสช.: เครือข่ายใหม่ในรูปแบบที่เก่าแก่กว่า” ของ เวียงรัฐ เนติโพธิ์ สำรวจความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ (clientelism) ภายใต้ระบอบ คสช. (พ.ศ. 2557-2562) โดยศึกษาเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการระหว่างตัวแสดงทางการเมือง ต่าง ๆ ผ่านกรอบความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์กับระบอบการเมือง เวียงรัฐตั้งคำถามถึงเครือข่ายระหว่างผู้มีอำนาจรัฐกับประชาชนและเครือข่ายระหว่างนักการเมืองกับประชาชนเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรในช่วงระบอบ คสช. และพบว่าระบอบนี้ได้ใช้ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อทำลายความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับประชาชนและพรรคการเมือง ซึ่งความสัมพันธ์เชิงสถาบันนี้ส่งผลให้เกิดการกลับคืนสู่การเมืองแบบเก่าที่ใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลและระบบราชการ อันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย

    ส่วน นรุตม์ เจริญศรี  ได้ทบทวนกรอบคิดสามเหลี่ยมเหล็กซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดง (actors)  หลักในเศรษฐกิจการเมืองของญี่ปุ่น ได้แก่ หน่วยงานราชการ พรรคการเมือง และภาคธุรกิจ ใน “ตัวแสดงในเศรษฐกิจการเมืองญี่ปุ่นกับการกำหนดแนวทางการพัฒนาการเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง: ทบทวนกรอบคิดสามเหลี่ยมเหล็ก” โดยเลือกวิเคราะห์ผ่านนโยบายต่างประเทศญี่ปุ่นที่มีต่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงด้านการขนส่งระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการลงทุนจากบริษัทเอกชนญี่ปุ่นอยู่จำนวนมาก

    Jularut Padunchewit (จุฬารัต ผดุงชีวิต) และ Awae Masae (อาแว มะแส) ในบทความ The Use of Photovoice as Reflections on the Citizens’ Voices in Resolving Land Conflicts in Thaplan National Park  สะท้อนการใช้ภาพเล่าเรื่อง (photovoice) เพื่อเป็นวิธีการสื่อสารเพื่อทำให้เห็นประเด็นปัญหาในชุมชนท้องถิ่นผ่านบุคคลในท้องถิ่นที่ประสบปัญหาและการแก้ไขปัญหาที่ดินในอุทยานแห่งชาติทับลาน ผู้เขียนเสนอว่าการใช้ภาพเล่าเรื่องเป็นวิธีการในการเข้าถึงความรู้สึกเชิงศีลธรรมของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือผ่านมุมมองของประชาชนในการพัฒนาชุมชนและสามารถพัฒนาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินได้

    บทความของ ดิเรกฤทธิ์ บุษยธนากรณ์ และ สุมนทิพย์ จิตสว่าง “การเปลี่ยนรูปแบบของอาชญากรรมในศตวรรษที่ 21: ปัญหาอาชญากรรมลูกผสมในสังคมไทย” ชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของอาชญากรรมในศตวรรษที่ 21 ที่ปรับรูปแบบจากอาชญากรรมเดี่ยวมาเป็น “อาชญากรรมลูกผสม” กล่าวคือเป็นการผสมผสานกันระหว่างอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ทั้งอาชญากรรมรูปแบบเดิม อาชญากรรมรูปแบบใหม่ อาชญากรรมรูปแบบอื่น ๆ และที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต มีลักษณะเป็นอาชญากรรมแบบเบ็ดเสร็จ เพราะปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยเทคโนโลยี ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมทางสังคมในระดับมหภาค ตลอดจนปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมทางสังคมในระดับจุลภาค ทำให้ผู้กระทำผิดหรืออาชญากรมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายหรือองค์กร สามารถกระทำการข้ามรัฐและเกิดขึ้นไร้พรมแดนโดยใช้เทคโนโลยี ปัจจัยด้านกายภาพ/ชีวภาพตลอดจนปัจจัยด้านจิตวิทยา อาชญากรใช้วิธีการที่หลากหลายและส่งผลกระทบในวงกว้างไม่จำกัดช่วงเวลาและสถานที่ สร้างการเลียนแบบ เข้าถึงเป้าหมายได้ง่ายแต่สร้างความเสียหายได้มาก โดยที่รัฐไม่สามารถติดตามตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ทันที เพราะต้องใช้บุคลากรและงบประมาณจำนวนมากในการป้องกันและปราบปราม

    ในบทความ “ระบบดิจิทัลภาครัฐเพื่อการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ: การประเมินผลเชิงคุณภาพในกรณีประเทศไทย” ของ ธนาพร เต็งรัตนประเสริฐและติญทรรศน์ ประทีปพรณรงค์  ศึกษาการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของภาครัฐผ่านระบบการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐ ได้แก่ ระบบการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และระบบให้บริการรับคำร้องขอหนังสือเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร ระบบการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบบพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ กรมศุลกากร และระบบการชำระค่าธรรมเนียมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนปัจจัยที่ทำให้ระบบการใช้งานสำเร็จ ทั้งสองพบว่าองค์ประกอบความสำเร็จของการปรับใช้ภาครัฐดิจิทัลอยู่ที่การลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล การส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัล และการออกแบบสถาปัตยกรรมของภาครัฐเพื่อให้ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

    บทความของจิตรสุดา ลิมเกรียงไกร เรื่อง “ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการสังคมในมหาวิทยาลัยไทย” ศึกษาการพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการสังคมในมหาวิทยาลัยโดยการวิจัยเชิงคุณภาพ จิตรสุดาพบว่าระบบนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการสังคมในมหาวิทยาลัยไทยคือ การเชื่อมโยงกันของห่วงโซ่ทางคุณค่าที่มีความสลับซับซ้อน เช่นเดียวกันกับระบบนิเวศทางธรรมชาติ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ ที่มีหน้าที่แตกต่างกันแต่มีการพึ่งพาอาศัยกันเป็นเรื่องสำคัญ องค์ประกอบและปัจจัยเกื้อหนุนต่าง ๆ ได้แก่ การบูรณาการประเด็นการประกอบการทางสังคมเข้าสู่การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย การสร้างงานวิจัยเพื่อส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการสังคม การสร้างเครือข่ายวิจัยเป็นกลไกเชื่อมต่อการสร้างผลกระทบทางสังคม ผ่านกลุ่มผู้ประกอบการสังคม การให้คำปรึกษาและระบบพี่เลี้ยง การเชื่อมต่อความช่วยเหลือจากภาครัฐและภาคเอกชน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุน และการสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกันสำหรับส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการสังคม และองค์ประกอบหลักของระบบนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการสังคมในมหาวิทยาลัยไทยคือทรัพยากรบุคคลในฐานะผู้ขับเคลื่อน ผู้ให้กำเนิดและผลักดันส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการสังคม

    “ความคิดทางการเมืองของจอห์น สจ๊วต มิลล์: ว่าด้วยแนวทางการป้องกันทรราชของเสียงข้างมาก” โดย ศักดิ์สิทธิ์ ฆารเลิศ พิศาล มุกดารัศมี และวรารัก เฉลิมพันธุศักดิ์ ใช้วิธีการศึกษาแบบปรัชญาการเมืองวิเคราะห์ตีความตัวบท พบว่าทรราชของเสียงข้างมาก ในทัศนะของ Mill คือสภาวะที่คนฝ่ายเสียงข้างมากในสังคมกดขี่หรือละเมิดเสรีภาพของคนฝ่ายเสียงข้างน้อยในสังคม ทรราชของเสียงข้างมากมี 2 ประเภท ได้แก่ ทรราชของเสียงข้างมากโดยกฎหมาย และทรราชของเสียงข้างมากโดยสังคม Mill หวาดกลัวทรราชของเสียงข้างมาก และถือเป็นความชั่วร้ายประการหนึ่งในสังคมประชาธิปไตย เขาจึงเสนอว่าปัจเจกบุคคล สังคม และรัฐต้องมีหลักการสำคัญอันเป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติร่วมกัน ได้แก่ หลักแห่งอรรถประโยชน์ หลักแห่งเสรีภาพของปัจเจกบุคคล หลักแห่งขันติธรรม หลักแห่งความเป็นภัยอันตรายแก่ผู้อื่น หลักแห่งการมีส่วนร่วม หลักแห่งการปกครองแบบมีตัวแทนและหลักการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น

     

    บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

     

  • กรกฎาคม - ธันวาคม 2564
    ปีที่ 51 ฉบับที่ 2 (2021)

    บทบรรณาธิการ

     วารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้มีบทความครอบคลุมทั้งด้านทฤษฎีการเมือง การสถาปนาประชาธิปไตย การศึกษาอำนาจรัฐแบบอำนาจนิยมโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งยังมีบทความเกี่ยวกับแนวคิดทางการเมืองไทยในนโยบาย ประเด็นเรื่องศาสนากับการเมือง และปิดท้ายด้วยบทความวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุ

    เริ่มจากบทความของ Soravis Jayanama (สรวิศ ชัยนาม) เรื่อง “Parasite and the Ideological Barriers to Emancipatory Politics”  ได้สำรวจอุดมการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการสร้างสำนึกชนชั้นผ่านภาพยนตร์ของบง จุนโฮ ผู้กำกับชาวเกาหลี ซึ่งสร้างภาพยนตร์ที่น่าสนใจ สรวิศเลือกเรื่อง Parasite (2019), Snowpiecer (2013) , Okja (2017) มาเป็นสื่อในการอธิบายถึงการกล่อมเกลาสำนึกเพื่อให้เพิกเฉยและเป็นเงื่อนไขของความล้มเหลวในการสร้างสำนึกชนชั้นและเอกภาพทางชนชั้นที่เป็นหนึ่งเดียว

    ส่วน นิธิ เนื่องจำนงค์ ได้ชี้ให้เห็นความยุ่งยากในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยให้เป็นปึกแผ่นในเกาหลีใต้ โดยชี้ให้เห็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จผ่านการควบคุมกองทัพโดยรัฐบาลพลเรือน ในบทความ “การควบคุมโดยพลเรือนและการสร้างความมั่นคงให้กับประชาธิปไตยในเกาหลีใต้: จากการสร้างความเป็นทหารอาชีพสู่การสร้างความเป็นพลเรือนในกองทัพ” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงกระบวนการการปลดและโยกย้ายทหารการเมืองจนสามารถสร้างสภาวะความเป็นทหารอาชีพได้ ตลอดจนการทำให้กองทัพมีความเป็นพลเรือนมากขึ้น ผ่านการเพิ่มบุคลากรพลเรือนและส่งเสริมคุณค่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ทำให้กองทัพเกาหลีใต้ออกจากการแทรกแซงทางการเมืองในที่สุด

    เช่นเดียวกัน ภายใต้คำถามเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนถูกสำรวจผ่านงานของ Attawat Assavanadda (อรรถวัตต์ อัศวนัดดา) ในบทความ “State Power and Chinese Authoritarian Resilience in the Reform Era: Coercion, Obstruction and Domination” ที่ผู้เขียนเสนอว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีขีดความสามารถในการสนองตอบต่อภัยคุกคามในสามมิติ ได้แก่ มิติการใช้กำลังบังคับและปราบปราม มิติตที่สองคือการกีดกันประเด็นที่อาจจะเป็นภัยต่อพรรคฯ ผ่านการควบคุมข่าวสารและการโฆษณาชวนเชื่อ มิติสุดท้ายคือการครอบงำทางเลือกของประชาชน เพื่อมิให้เกิดทางเลือกที่เป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของพรรคคอมมิวนิสต์

    ส่วนบทความของ พยัญชน์ เอี่ยมศิลป์ “ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ: มองผ่านภาวะผู้นำทหารในการยุติการสู้รบบ้านร่มเกล้า-บ่อแตน” ได้ชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของสงครามที่บ้านร่มเกล้า ที่มีมูลเหตุจากเศรษฐกิจชายแดนและประเด็นสนธิสัญญาเขตแดนเดิม ทำให้ผู้นำกองทัพไทยต้องอาศัยสายสัมพันธ์ส่วนตัวเข้าไปช่วยเจรจา ประกอบกับบรรยากาศของสงครามเย็นที่คลายตัวลงทำให้การเจรจาหยุดยิงบรรลุผลในที่สุด

    ในประเด็นด้านวาทกรรมการพัฒนา พัด ลวางกูร ได้สำรวจความคิดทางการเมืองไทยในนโยบายการพัฒนาผ่านตัวบทสำคัญคือคู่มือการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศผ่านโครงการไทยนิยมยั่งยืนของ รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งในบทความ “ความคิดทางการเมืองไทยในนโยบายการพัฒนา” ได้อธิบายว่าความคิดทางการเมืองไทยที่ปรากฏในคู่มือดังกล่าว ได้แก่ คุณค่าเรื่องประชาธิปไตยแบบไทย แนวคิดเรื่องการเลือกคนดี แนวคิดเรื่องรัฐอุปถัมภ์โดยมีประชาชนในฐานะผู้รับการอุปถัมภ์ โดยคาดหวังว่าจะสามารถสร้างความต่อเนื่องทางการเมืองและแสวงหาการยอมรับของประชาชนต่อรัฐบาล คสช. ตามแนวคิดแบบอำนาจนิยมที่เชื่อมมาจากอดีตได้

    ด้าน สามารถ ทองเฝือ ได้อธิบายแนวคิดเรื่องอิสลามการเมืองว่าศาสนาอิสลามมีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางการเมืองในมาเลเซีย ในบทความ “อิสลามการเมืองในมาเลเซีย” อธิบายว่ามีการใช้ศาสนาอิสลามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดอนาคตและสร้างเอกลักษณ์ของชาติ

    สมพงษ์ จิตระดับ และ นวพร สุนันท์ลิกานนท์ ศึกษาเรื่อง Node และบทบาทของแนวคิดและปฏิบัติการที่ทำให้เกิดการประสานงานระหว่างองค์กรทางสังคมจนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง ในบทความ  “Node: หน่วยประสานเครือข่ายงานด้านการพัฒนาสังคมในมุมมองทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำการ” ยังได้ขยายความถึงคุณลักษณะของ Node และความสัมพันธ์เชิงสัมพัทธ์ที่แนวคิดเรื่อง Node ทำให้เกิดการทำงานข้ามเครือข่าย

    บทความสุดท้ายของ ปุณยวัจน์ ไตรจุฑากาญจน์ เรื่อง “ความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ: สถานการณ์ สาเหตุ และการรับมือ” ศึกษาปัญหาความรุนแรงต่อผู้สูงอายุในสังคมไทย โดยศึกษาในห้าพื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี เชียงใหม่ หนองบัวลำภู และสงขลา ซึ่งพบว่ามีความรุนแรงมาจากคนใกล้ชิดที่เกี่ยวข้องกับความตึงเครียดและมาจากบุคคลใกล้ชิด เช่น คู่สมรส ลูกหลาน ญาติพี่น้อง คนใกล้ชิด และเพื่อนบ้าน ทำให้ต้องวางแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยผ่านการให้คำปรึกษา ให้กำลังใจของทีมสหวิชาชีพและบุคคลใกล้ชิด

     

    บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

  • มกราคม - มิถุนายน 2564
    ปีที่ 51 ฉบับที่ 1 (2021)

    บทบรรณาธิการ

    วารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้มีบทความ 8 ชิ้น ซึ่งมีความหลากหลายมุมมองทางวิชาการและสาขาความรู้ ในบทความของ Pisanu Sangiampongsa (พิษณุ เสงี่ยมพงษ์) เรื่อง “The Societal Sources of Public Policy: A Review of Concepts and Their Applications” อธิบายปัจจัยทางสังคมว่ามีผลต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะอย่างไร เช่น ปัญหาสังคม ความขัดแย้งทางสังคม การแข่งขันระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ทั้งนี้พิษณุได้ชี้ให้เห็นว่าความคิดเห็นสาธารณะและผลประโยชน์สาธารณะซึ่งมีความแตกต่างกัน แต่ก็มีสถานะเป็นตัวการในการกำหนดนโยบายสาธารณะด้วยเช่นกัน

    บทความของ ชญานุช จาตุรจินดา เรื่อง “AI กับการบริหารงานบุคคล” กล่าวถึง AI (Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์) ว่ามีศักยภาพในการนำมาใช้กับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ตั้งแต่กระบวนการบริหาร การคัดกรองผู้สมัครจนถึงรับเข้างาน ตลอดจนการประเมินเพื่อเลื่อนขั้น หรือเงินเดือน แต่ AI ก็มีขีดจำกัดที่ขาดทักษะด้านอารมณ์แบบมนุษย์ กล่าวได้ว่า AI มีความสำคัญมากขึ้น แต่ก็มีบางอย่างที่ไม่สามารถใช้การแทนมนุษย์ได้

    ชัยยนต์ ประดิษฐศิลป์, ชัยณรงค์ เครือนวน และ จิตรา สมบัติรัตนานันท์ ในบทความ “การสำรวจเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในประเทศไทย” ทำการศึกษาสถานภาพและวิพากษ์องค์ความรู้ทางด้านทฤษฎีเกี่ยวกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น พบว่าต่างมีจุดแข็งและจุดอ่อนทั้ง 5 แนวคิด ได้แก่ แนวคิดท้องถิ่นนิยมกระแสหลัก แนวคิดท้องถิ่นนิยมแบบใหม่ แนวคิดท้องถิ่นนิยมทวนกระแส แนวคิดทฤษฎีการเลือกสาธารณะ และแนวคิดระดมมวลชนมีส่วนร่วม

    บทความ “การศึกษาวิจัยกลไกการบริหารจัดการสาธารณภัยในระดับพื้นที่” โดย ศิริรักษ์ สิงหเสม, วสันต์ เหลืองประภัสร์ และ ภัทรวุฒิ เฉยศิริ ศึกษาปัญหากลไกการบริหารจัดการสาธารณภัยใน ระดับพื้นที่และได้เสนอตัวแบบการบริหารจัดการที่เหมาะสมจากกรณีศึกษา 8 จังหวัด

    ส่วนในบทความของ ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร เรื่อง “มิติระหว่างประเทศของกระบวนการปฏิรูปทางการเมือง และเศรษฐกิจของเมียนมา (ค.ศ. 2007-2015)” ได้ศึกษามิติระหว่างประเทศในการปฏิรูปการเมือง และเศรษฐกิจของเมียนมาใน 3 ด้าน คือ ด้านการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบอภิบาลประชาธิปไตย และกระบวนการสันติภาพและการเจรจาปรองดอง ทั้งยังศึกษาบทบาทของตัวแสดงภายนอกและ บริบทการเมืองระหว่างประเทศ ผ่านแนวคิดเรื่องกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยและ การสถาปนาประชาธิปไตย ผลการศึกษาชี้ว่าปัจจัยตัวแสดงภายนอกมีบทบาทอย่างจำกัด ในการพัฒนาประชาธิปไตยเมียนมา เนื่องจากรัฐบาลและกองทัพยังคงครอบงำการเมืองอยู่ แต่ก็มีความสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคต

    “Morgenthau’s and Bull’s Conceptions of International Morality: Similarities, Differences and Implications” ของ Muninthon Wattanayakorn (มุนินทร วัฒนายากร) ศึกษาแนวคิดว่าด้วย ศีลธรรมระหว่างประเทศของ Morgenthau และ Bull ซึ่งเป็นนักวิชาการคนสำคัญในการศึกษาการเมือง ระหว่างประเทศ ได้ชี้ให้เห็นว่ามิติทางศีลธรรมของ Bull คับแคบกว่า Morgenthau ซึ่งเปิดพื้นที่ให้กับมิติทางสิทธิมนุษยชนมากกว่า

    บทความ “ความเชื่อเรื่องนัตกับการเมืองวัฒนธรรม: พหุวัฒนธรรมท่ามกลางกระแสความเป็นเมืองในมัณฑะเลย์” ของ กฤติธี ศรีเกตุ ศึกษาความเชื่อเรื่องผีนัตที่เป็นเป้าหมายของการควบคุมจัดการโดยฝ่ายผู้ปกครองมาตลอด แต่ก็เป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรมที่มี การต่อรองประนีประนอมเช่นกัน

    บทความ “ความเชื่อในวิทยาศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ในความเชื่อ: ความเป็นไปของสภาพอากาศกับการปะทะกันของอำนาจในคำพยากรณ์” ของ วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์ ทำความเข้าใจ ปรากฏการณ์ที่ผู้ค้าในตลาดนัดแห่งหนึ่งที่เชื่อถือคำพยากรณ์อากาศจากคนทรงเจ้ามากกว่าพยากรณ์อา กาศของทางรัฐบาลว่าเป็นวิธีการต่อรองกับอำนาจทางการที่ครอบทับโอกาสในการดำเนินกิจกรรมทาง เศรษฐกิจของพวกเขา

     

    บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

     

     

     

     

     

     

  • กรกฎาคม - ธันวาคม 2563
    ปีที่ 50 ฉบับที่ 2 (2020)

    บทบรรณาธิการ

     วารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ มีบทความ 8 บทความ ดังนี้

    บทความของ Pisanu Sangiampongsa (พิษณุ เสงี่ยมพงษ์) เรื่อง  The Defense of State’s Role in Public Policy บ่งชี้ถึงบทบาทของรัฐในการกำหนดนโยบายสาธารณะว่ายังมีความสำคัญอยู่โดยวิเคราะห์จากความจำเป็นในเชิงเศรษฐศาสตร์และการเมือง แม้ว่าจะมีผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่ทำให้บทบาทของรัฐในทางเศรษฐกิจลดลง แต่บทบาทด้านอื่นยังดำรงอยู่

    ชญานุช จาตุรจินดา ในบทความ “การศึกษาผลการนำนโยบายการส่งเสริมบุคลากรของภาครัฐหลังเกษียณอายุที่มีศักยภาพในการทำประโยชน์ให้ระบบราชการไทยไปปฏิบัติ” ได้ศึกษาเรื่องนโยบายการต่ออายุราชการหลังเกษียณ ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จและแนวทางส่งเสริมนโยบายให้มีประสิทธิภาพผ่านกลุ่มตัวอย่างจากข้าราชการสองกลุ่มคือกลุ่มข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษาและข้าราชการพลเรือนสามัญ

    บทความของ นรา แป้นประหยัด เรื่อง “ผลกระทบจากผลิตภาพปัจจัยการผลิตรวมต่อความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของครัวเรือนโดยแบบจำลองดุลยภาพทั่วไปเชิงพลวัต กรณีศึกษาประเทศไทย” ศึกษาผลกระทบของผลิตภาพปัจจัยการผลิตที่มีผลต่อความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของครัวเรือนไทยโดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งบ่งชี้ว่าถึงแม้จะมีมูลค่าผลผลิตเพิ่มและรายได้ครัวเรือนสูง แต่กลับมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงไปด้วย ในบทความมีข้อเสนอทางนโยบายประกอบ

    ในบทความของ อลงกต สารกาล เรื่อง “ความสำเร็จขององค์กรปกครองท้องถิ่นในการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน: บทเรียนจากเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์”  เป็นการศึกษาการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยมีกรณีศึกษาที่จังหวัดกาฬสินธุ์และพบว่ามีความสำเร็จในการจัดการสิ่งแวดล้อม

    สัณหวรรณ ศรีสด ได้ศึกษาเรื่องอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในแง่สาเหตุจากมุมมองของอาชญาวิทยา ในบทความ “การสังเคราะห์ทางอาชญาวิทยาของอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ซึ่งช่วยทำให้เข้าใจสาเหตุและแบบแผนของอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

    สำหรับบทความเรื่อง “Islamophobia as Represented by Thai Buddhist Organizations” ของ Jesada Buaban (เจษฎา บัวบาล) ได้ศึกษาโรคเกลียดกลัวอิสลามที่เสนอผ่านองค์กรชาวพุทธในไทยที่เห็นว่ารัฐไทยสนับสนุนกิจการของมุสลิม ทำให้บรรดาชาวพุทธเห็นว่าไม่เป็นธรรมและเรียกร้องให้รัฐมาสนับสนุนฝ่ายตนบ้าง ขณะเดียวกันก็เผยแพร่มุมมองที่สะท้อนความเกลียดและหวาดกลัวต่อศาสนาอิสลาม 

    ส่วน สุวนีย์ เอื้อพันธ์ศิริกุล และสืบสกุล นรินทรางกูร ณ อยุธยา ได้ศึกษาและเสนอแนวทางการการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะของนักการทูตเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล รายละเอียดปรากฏในบทความ “แนวทางการพัฒนานักการทูตไทยสู่มาตรฐานสากล”

    ในบทความสุดท้าย เป็นบทความโดย Thanachate Wisaijorn (ธนเชษฐ วิสัยจร) ชื่อ “Post-orientalism on the Thai-Lao Border from 1954 to 2019” กล่าวถึงสภาวะของการอ่านพื้นที่ชายแดนแบบผสม ที่มองว่าองค์ความรู้ตะวันตกเหนือกว่าและชนชั้นนำท้องถิ่นได้นำไปใช้ ทั้งยังมีการยอมรับแนวการอ่านและเขียนกำกับพื้นที่ชายแดนแบบเวสต์ฟาเลียที่เขาเรียกว่า “สภาวะหลังบูรพคดีศึกษานิยม”

     

    บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

  • มกราคม - มิถุนายน 2563
    ปีที่ 50 ฉบับที่ 1 (2020)

    บทบรรณาธิการ

    ในวารสารสังคมศาสตร์เล่มนี้ประกอบด้วยบทความ 8 บทความและบทวิจารณ์หนังสือ 1 บทความ ดังนี้

    บทความ “Financialization and Everyday International Political Economy: Financial Inclusion” ของ Kalaya Chareonying (กัลยา เจริญยิ่ง) กล่าวถึงนโยบายการเข้าถึงการเงินของคนจนผ่านนโยบายของรัฐว่าด้านหนึ่งสร้างภาพของความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันทางโอกาสเพื่อเปลี่ยนคนจนให้เป็นนักธุรกิจ ซึ่งสนับสนุนโดยบรรษัทเงินทุนข้ามชาติและองค์กรระหว่างประเทศ แต่ผลในด้านหนึ่งเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจไปจากความไม่เท่าเทียมอันเกิดจากโครงสร้างตลาด ทั้งยังเพิ่มบทบาทและอำนาจของบรรษัทข้ามชาติและทุนนิยมโลก

    บทความ “ผลกระทบของการสอดส่องผ่านเทคโนโลยีและสื่อสังคมที่มีต่อครูและผู้ดูแลเด็กปฐมวัย” ของภัทรพรรณ ทำดี และวัชรี บุญวิทยา มาจากการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจสภาพการทำงานของครูและผู้ดูแลเด็กปฐมวัยภายใต้การถูกสอดส่องทางเทคโนโลยี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ปฏิบัติงานรู้สึกระแวดระวัง มีความตึงเครียดในการทำงานและการแยกเวลาส่วนตัวกับเวลาทำงาน ขณะเดียวกันก็ส่งผลทางอ้อมต่อพัฒนาการของเด็ก รวมทั้งการละเมิดสิทธิและความปลอดภัย อีกทั้งยังเกิดความขัดแย้งไม่ไว้วางใจระหว่างผู้ปกครองและครู ผู้วิจัยจึงเสนอให้มีกติกาการใช้เทคโนโลยีและสื่อทางสังคมร่วมกัน

    ในบทความของ ศิริพงศ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา เรื่อง “การพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดเมืองรอง: การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางสังคมภายในระบบการท่องเที่ยวของจังหวัดอำนาจเจริญ” มาจากงานวิจัยเพื่อศึกษาการรับรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยว ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางสังคมทำให้เห็นผลในทางปฏิบัติของนโยบายการท่องเที่ยวในเมืองระดับรอง หรือเมืองที่ไม่อยู่ในเส้นทางท่องเที่ยวหลักและชี้ให้เห็นว่าบทบาทของหน่วยงานด้านปกครองและภาครัฐยังมีบทบาทสูงกว่าภาคเอกชน

    บทความของ นันท์รพัช ไชยอัครพงศ์ เรื่อง “อาชญาวิทยาสิ่งแวดล้อมกับการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่เกิดขึ้นในไทย” ได้ทำความเข้าใจการลักลอบค้าสัตว์ป่าในประเทศไทยผ่านกรอบคิดเรื่องอาชญาวิทยาสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลการศึกษาพบว่าการลักลอบค้าสัตว์ป่าสร้างความเสียหายทั้งต่อมนุษย์และสังคม กับสัตว์ป่าไปพร้อม ๆ กัน

    กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ นำเสนอบทความเรื่อง “การคุ้มครองทางสังคมถ้วนหน้า: แนวทางการวิเคราะห์เน้นสิทธิมนุษยชนสู่การสนับสนุนรายได้พื้นฐาน” ศึกษาการนำนโยบายการสนับสนุนรายได้พื้นฐาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดเรื่องการคุ้มครองทางสังคมไปปฏิบัติ ตลอดจนข้อถกเถียงในแนวทางดังกล่าวภายใต้อิทธิพลของแนวคิดเสรีนิยมใหม่

    ส่วนในบทความของ กิตติพศ พุทธิวนิช เรื่อง “การปฏิรูปกองทัพปลดแอกประชาชน: นัยต่อความเป็นผู้นำของสีจิ้นผิง” อธิบายผลของการปฏิรูปกองทัพปลดแอกประชาชนโดยผ่านการปฏิรูปนโยบายกองทัพ การบูรณาการระหว่างพลเรือนกับทหาร ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการสถาปนาการเข้าสู่อำนาจของสีจิ้นผิงในฐานะผู้นำสูงสุด ต่างจากยุคก่อนหน้าที่มีความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งพยายามยืนหลักการพรรคคุมปืนมาตั้งแต่ยุคเหมาเจ๋อตง

    นรีนุช ดำรงชัย ศึกษาและอธิบาย “แนวทางการดำเนินชีวิตของชนชั้นกลางขึ้นไปในชุมชนเมืองที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความมั่นคงของมนุษย์ที่ยั่งยืน” เป็นการศึกษาแนวคิดเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับชีวิตประจำวันของชนชั้นกลาง

    อภิรัฐ คำวัง มองความเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างการเลือกตั้งโลกสภาในอินเดียใน “เทศกาลแห่งประชาธิปไตยในการเลือกตั้งสมาชิก ‘โลกสภา’ อินเดีย ค.ศ. 2019” ซึ่งมีผู้มีสิทธิกว่า 900 ล้านคนโดยมีความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองและฐานเสียงในรัฐต่าง ๆ ทำให้เห็นภาพรวมของการเลือกตั้งได้ชัดขึ้น

    ส่วน นรุตม์ เจริญศรี  ได้เสนอบทวิจารณ์หนังสือ เรื่อง At Home Abroad: A Memoir of the Ford Foundation in Indonesia, 1953-1973 ชวนให้ขบคิดถึงบทบาทของมูลนิธิฟอร์ดในช่วงสงครามเย็นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งด้านหนึ่งสะท้อนบทบาทของสหรัฐอเมริกาผ่านการสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการและมิติทางการเมืองที่ถูกร้อยรัดเอาไว้ด้วยกัน

     

    บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

  • กรกฎาคม - ธันวาคม 2562
    ปีที่ 49 ฉบับที่ 2 (2019)

    บทบรรณาธิการ

    วารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้เริ่มจากบทความของ อภิชาต สถิตนิรามัย เรื่อง “คนชั้นกลางกรุงเทพฯ ผู้ไม่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยกับทฤษฎีการทำให้เป็นสมัยใหม่ (Modernization Theory)”  ซึ่งชวนถกเถียงและตั้งคำถามต่อทัศนคติของคนชั้นกลางในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเชื่อมโยงกับพลวัตและบทบาทของคนชั้นกลาง

    ส่วน ชาย ไชยชิต ในบทความ เรื่อง “ความคลุมเครือของแนวคิดการแบ่งแยกอำนาจในงานศึกษาการละเมิดอำนาจรัฐสภา: กรณีศึกษางานวิจัย เรื่อง ‘แนวคิดและหลักการว่าด้วยการละเมิดอำนาจรัฐสภา’ ของ พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย” เป็นการตั้งคำถามต่อผลงานวิจัยที่เสนอให้มีการพิจารณาบทบาทของรัฐสภาในฐานะองค์กรสูงสุดที่ยึดโยงกับประชาชนผู้เป็นอำนาจอธิปไตย แต่บทความตั้งคำถามต่อความคิดดังกล่าวและพยายามอธิบายโดยเสนอว่า ทิศทางขององค์กรใช้อำนาจนั้นมีแนวคิดแตกต่างกันและมีแนวโน้มเป็นอิสระจากกันมากขึ้น

    บทความของ อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ และ สุพัฒน์ วงศ์สุขุมอมร เรื่อง “ความคาดหวังว่าผู้สมัครจะชนะเลือกตั้งเป็นตัวกำกับความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นตัวแทนความคิดทางการเมืองและข้อตัดสินใจเลือก” เป็นการศึกษาการตัดสินใจเลือกลงคะแนนกับผู้สมัครลงรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน ปี พ.ศ. 2554 จากการสำรวจของสถาบันพระปกเกล้าและสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยชี้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีแนวโน้มจะลงคะแนนให้กับผู้สมัครที่ “มีโอกาสชนะ” โดยคำนึงถึงกลยุทธ์การสื่อสารทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพด้วย

    ในบทความของ นญา พราหมหันต์ และ ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ เรื่อง “อิสรภาพจากมโนทัศน์ทายาทความรุนแรง” ได้ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ว่ากระบวนการสร้างมโนทัศน์ความรุนแรงจะกระทำผ่านความรุนแรงในวัยเด็ก แต่มนุษย์สามารถปลดปล่อยตัวเองจากมโนทัศน์ดังกล่าวและมีอิสระจากโครงครอบในมโนทัศน์ดังกล่าวได้

    สัญญา เคณาภูมิ ในบทความเรื่อง “ความเป็นหุ้นส่วนทางการเมือง” อธิบายหลักคิดในการเป็นหุ้นส่วนทางการเมืองว่ามีบทบาทสำคัญในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง

    ฐิติเทพ สิทธิยศ ในบทความเรื่อง “วิวัฒนาการของความร่วมมือในเกม Prisoner’s Dilemma” เป็นความพยายามอธิบายแนวคิดสำคัญในทฤษฎีเกมว่าพฤติกรรมของคนจะมีการร่วมมือหรือหักหลังกันผ่านการทดสอบในทฤษฎีเกมอย่างไรเพื่อนำผลไปย้ำเตือนการวางนโยบายว่าควรตระหนักถึงความแตกต่างในพฤติกรรมการตัดสินใจทางนโยบาย

    บทความของ ชญาน์ทัต ศุภชลาศัย เรื่อง “Under Drone Attacks: Lacan and Trauma in International Politics” พยายามทำความเข้าใจความรุนแรงโดยรัฐและบาดแผลทางใจของคนผ่านวิธีคิดของลาก็อง

    บทความชิ้นสุดท้ายโดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง “Hydroelectricity Generation and the Dynamics of India-Bhutan Relations” ที่ได้ให้ภาพของความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับภูฏานภายหลังการทบทวนสนธิสัญญาพันธมิตรใน พ.ศ. 2550 ซึ่งนับว่าเป็นสัมพันธภาพที่เปลี่ยนไปและมีลักษณะพิเศษที่ภูฏานมีต่ออินเดีย แต่ก็ทำให้ภูฏานต้องพึ่งพาเศรษฐกิจและการลงทุนจากอินเดีย ขณะที่อินเดียมีความมั่นคงด้านพลังงานมากขึ้น

    บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

  • มกราคม - มิถุนายน 2562
    ปีที่ 49 ฉบับที่ 1 (2019)

    บทบรรณาธิการ

    วารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ประกอบไปด้วยบทความที่หลากหลายเช่นเคย เริ่มจากบทความของ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล พลวัตการเปลี่ยนแปลง การถดถอย และการฟื้นตัวของขบวนการต่อต้านทักษิณ โดยมุ่งไปที่ความคิดของกลุ่มที่หลากหลายจากทั่วทุกภาคทำให้เห็นมิติที่ลึกลงไปตั้งแต่การเสื่อมถอยของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจนถึงการฟื้นตัวของกลุ่มที่ประกอบเป็นขบวนการ หรือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

    รัฐศิรินทร์ วังกานนท์ ศึกษาผลของการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ว่าส่งผลต่อการทำให้เป็นประชาธิปไตยอย่างไร ผ่านกรณีศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามแห่งและมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดการงบประมาณแบบมีส่วนร่วมที่เหมาะสม

    ในบทความของอดินันท์ พรหมพันธ์ใจ ศึกษารูปแบบของรัฐราชการไทยหลังยุคทักษิณ ชินวัตร และได้ชี้ว่าระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ มีพัฒนาการเชิงสถาบัน โดยใช้สถาบันการเมืองเป็นเครื่องรองรับระบอบและสร้างความเข้มแข็งให้รัฐราชการ

    บทความของพิษณุ เสงี่ยมพงษ์ (Pisanu Sangiampongsa) อธิบายที่มาทั้งทางทฤษฎีและข้อมูลเชิงประจักษ์ในปัจจัยที่มีผลต่อการตราและการบังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 โดยชี้ให้เห็นถึงปัจจัยเชิงปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม ปัจจัยทางการเมืองและปัจจัยทางนโยบายส่งผลต่อแนวคิดและการบังคับใช้เป็นผลสำเร็จ แต่กลับไม่บรรลุหลักการเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของแนวคิดการจัดเก็บภาษีมรดก

    ชัยยนต์ ประดิษฐศิลป์ และจิรายุทธ์ สีม่วง ศึกษากระบวนการสะสมทุนของคาสิโนชายแดนไทยโดยใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองและทางเลือกนโยบายสาธารณะเพื่อทำความเข้าใจกลไกและกระบวนการสะสมทุนของคาสิโน และได้เสนอข้อคิดเชิงนโยบายหากประเทศไทยจะมีคาสิโนที่ถูกกฎหมายจะเพิ่มปัญหามากกว่า และควรจะมีกลไกสร้างระบบการพนันแบบมีความรับผิดชอบและสร้างพลเมืองที่รู้เท่าทันการพนัน

    ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง ศึกษาวาทกรรมความเป็นสากลของการบูรณาการประเด็นเพศภาวะว่าสามารถกลายมาเป็นประเด็นในกระแสหลักขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ได้อย่างไร และชี้ให้เห็นว่าวาทกรรมดังกล่าวไม่ได้มีความเป็นสากล

    สิทธิพล เครือรัฐติกาล ศึกษาปัจจัยที่ทำให้จีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับคิวบาในทศวรรษ 1960 ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของจีนในลาตินอเมริกา แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็เสื่อมถอยลงเนื่องจากความขัดแย้งในแนวทางการปฏิวัติระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตแตกต่างกัน และการที่คิวบาหันไปหาโซเวียตทำให้จีนตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ระดับพรรคต่อพรรคกับคิวบาในที่สุด

    รัชพล แย้มกลีบ ศึกษาประเด็นเรื่องเรือนร่างและความอ้วนผ่านประสบการณ์ของชายคนหนึ่งที่เคยมีรูปร่างอ้วน ว่าเรือนร่างมิได้เป็นเพียงสิ่งที่ถูกกระทำหรือประกอบสร้างจากโครงสร้างของสังคมเท่านั้น แต่เป็นผลของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและธรรมชาติประกอบกัน

    บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

     

     

  • กรกฎาคม - ธันวาคม 2561
    ปีที่ 48 ฉบับที่ 2 (2018)

    บทบรรณาธิการ

    วารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้มีบทความ 8 บทความ ประกอบด้วยบทความ “การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยเปรียบเทียบ: แง่คิดต่อความล้มเหลวในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยของไทย” ของสิริพรรณ นกสวน สวัสดี ที่ศึกษาเพื่ออธิบายและเปรียบเทียบปรากฏการณ์ของความล้มเหลวในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกกับประเทศไทย

    บทความของธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ เรื่อง “การศึกษาทางการเมืองเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย” ทำการศึกษาแนวทางการสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

    ส่วน เอกลักษณ์ ไชยภูมี ในบทความ “จากปฐมบทประชาธิปไตยสู่ทางสองแพร่งของเสรีประชาธิปไตย: เส้นทางของ‘ประชาธิปไตย’ในตะวันตก” ศึกษาพัฒนาการของความหมายของประชาธิปไตยในโลกตะวันตกที่เปลี่ยนแปลงและมีนัยสำคัญต่อการสร้างความหมายเชิงบวกให้กับประชาธิปไตยแบบตัวแทน

    บทความของกรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ “ประวัติศาสตร์และการเมืองของ ‘พวกขี้แพ้’: การครอบงำ อำนาจ และการต่อต้านในทัศนะของเจมส์ ซี สก็อตต์” ได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของการศึกษาเรื่องชนชั้นล่างและชาวป่าที่ไร้รัฐว่าสามารถสำแดงการต่อต้านการครอบงำของรัฐอย่างไรและเทคนิคการต่อต้านนั้นไม่เพียงการตอบโต้อย่างไร้ความหมาย แต่เป็นการตอบโต้อย่างมีนัยสำคัญทางการเมืองของบรรดาคนที่ถูกตราหน้าว่าเป็นพวกขี้แพ้ ซึ่งงานของสก็อตต์ยังครอบคลุมถึงความเป็นไปได้ในการปลดปล่อยตัวเองของมวลชนผู้ไร้อำนาจและพ่ายแพ้มาตลอด

    ในบทความ “บทบาทของสหรัฐอเมริกาในฐานะจักรวรรดิที่ไตร่ตรองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ความต่อเนื่องและเปลี่ยนแปลงในช่วงรัฐบาลโอบามา ค.ศ. 2009-2016” โดย กัลยา เจริญยิ่ง อธิบายบทบาทของสหรัฐอเมริกาว่าเป็นจักรวรรดิที่ไม่ใช้อำนาจในมิติแข็งกร้าวทางการทหารแต่อย่างเดียว แต่มีการปรับตัวมาโดยตลอดและมีการแผ่แสนยานุภาพ พร้อม ๆ กับการรักษาฐานอำนาจการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุครัฐบาลโอบามานั้นเป็นจักรวรรดิที่ไตร่ตรอง (reflexive empire) กล่าวคือมีการใช้อำนาจอัจฉริยะเพื่อสร้างทัศนคติและความยินยอมสมัครใจเข้าร่วมจักรวรรดิที่มีสหรัฐเป็นผู้นำในภูมิภาค

    บทความ “การเผาป่า และหมอกควันข้ามแดน: กรณีศึกษาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในประเทศอินโดนีเซีย” ของ พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ และภูมิ มูลศิลป์ ได้ชี้ให้เห็นปัญหาการเผาป่าและหมอกควันซึ่งไม่ใช่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเฉพาะที่ภายในรัฐ แต่มีมิติความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับปัญหาความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่ทำให้ปัญหามีความซับซ้อนและต้องการเสนอแนวทางแก้ไขเชิงนโยบายต่อประเทศไทยและภูมิภาคเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

    สยุมพร ฉันทสิทธิพร ในบทความ “ความชอบธรรมและการล้มล้างทรราช มุมมองของลัทธิขงจื่อในประวัติศาสตร์จีน” ศึกษาแนวคิดเรื่องความชอบธรรมตามสำนักขงจื่อว่าอาณัติแห่งฟ้ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความชอบธรรมทั้งในการดำรงอยู่ในอำนาจ แต่ก็เป็นช่องทางของการล้มล้างความชอบธรรมของอำนาจเช่นกัน

    ส่วนบทความ “การพัฒนาการท่องเที่ยวตลาดน้ำอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของอัตลักษณ์และการมีส่วนร่วมของชุมชน: กรณีศึกษาตลาดน้ำดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี” ของ ธีราพร ทองปัญญา ชี้ให้เห็นอัตลักษณ์ของตลาดน้ำดำเนินสะดวกที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ขณะเดียวกันก็มีความต้องการของผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่รัฐก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน ผู้วิจัยจึงเสนอแนวทางการพัฒนาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

    บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

  • มกราคม - มิถุนายน 2561
    ปีที่ 48 ฉบับที่ 1 (2018)

    บทบรรณาธิการ

     วารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้มีบทความ 8 บทความ ประกอบด้วยบทความของ วีระ สมบูรณ์ ที่มองตุลาการภิวัตน์ในฐานะส่วนหนึ่งของกระบวนการประกอบสร้างการจัดการปกครอง โดยแนวคิดและปฏิบัติการนี้เริ่มพัฒนาจากช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น โดยผลของกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้มิติระหว่างประเทศมีอิทธิพลต่อการจัดวางหลักการและแนวปฏิบัติของตุลาการภิวัตน์ทั่วโลก และมีมิติระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ปทัสถานระหว่างประเทศ เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ และโลกาภิวัตน์ทางตุลาการ

    บทความของ อภิรัฐ คำวัง เรื่อง “ที่พรมแดนระหว่างอนุภูมิภาคเอเชียใต้และอาเซียน: มองอินเดียเชื่อมต่อเมียนมาร์เพื่อ ‘มุ่งหน้าไปด้วยกัน” ศึกษาพรมแดนระหว่างอินเดียกับอาเซียน โดยศึกษาภาคสนามที่พรมแดนของอินเดีย โดยดูตลาดพรมแดนและความเปลี่ยนแปลง จะเห็นได้จากการที่อินเดียเตรียมเปิดประตูเชื่อมกับอาเซียนที่รัฐมณีปุระ แต่พรมแดนจุดอื่น ๆ ยังคงเปิดพื้นที่เฉพาะพ่อค้าท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ โดยยังไม่ยกระดับเป็นพรมแดนนานาชาติ

    ส่วน วัชรพล พุทธรักษา  ในบทความ “Big Society, Free Economy, and Strong State: Bonefeld’s Open Marxism and the Critique of Political Economy” ที่เสนอว่าแนวคิดโอเพ่นมาร์กซิสม์ของเวอร์เนอร์ โบเนเฟลด์มีความสำคัญและช่วยในการทำความเข้าใจเศรษฐกิจการเมืองร่วมสมัยได้ และทฤษฎีสำคัญของโบเนเฟลด์มีสามเรื่อง ได้แก่ แนวคิดเรื่อง “สังคมใหญ่” เศรษฐกิจเสรี และรัฐที่เข้มแข็ง โบเนเฟลด์ขับเน้นความสำคัญของแนวคิดดังกล่าวเพื่อมุ่งสร้างพื้นที่เชิงทฤษฎีที่รองรับ “ตัวแสดงที่เป็นมนุษย์ธรรมดา” และปฏิเสธมุมมองเกี่ยวกับสังคมเป็นกลไกและปฏิฐานนิยม ข้อเสนอหลักของโบเนเฟลด์ คือสังคมต้องเป็นองค์ประธานหลักของชีวิตทางสังคมของมนุษย์ ส่วนมนุษย์ต้องเป็นองค์ประธานหลักในการกำหนดความเป็นไปทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของมนุษย์เอง การเข้าใจสังคมเป็นจุดเริ่มในการทำความเข้าใจระบบการเมืองเศรษฐกิจและรัฐ ซึ่งในความพยายามปลดปล่อยมนุษย์ออกจากความสัมพันธ์ทางสังคมแบบทุนนิยมเป็นหน้าที่ของมนุษย์ปุถุชนทั้งหลาย

    บทความของ ศิริพงศ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา เรื่อง “การเผยแพร่ตัวตนด้วยการถ่ายทอดสดการฆ่าและความพยายามฆ่าตัวตายผ่านสื่อสังคม: มุมมองการวิเคราะห์แบบโครงสร้างและผู้กระทำการ” เป็นการวิเคราะห์ทั้งแบบโครงสร้างและผู้กระทำการ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์การเผยแพร่ตัวตนด้วยการถ่ายทอดสดการฆ่าและความพยายามฆ่าตัวตายผ่านสื่อสังคม ซึ่งค้นพบว่าสื่อสังคมเป็นได้ทั้งช่องทางและพื้นที่ทางสังคมที่มีลักษณะเป็นสายสัมพันธ์แบบอ่อนทำให้ยากต่อการจัดรูปแบบความสัมพันธ์อย่างเป็นแบบแผน แต่ยังมีกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดระเบียบเหมือนสังคมปกติ อย่างไรก็ดีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเกี่ยวกับสื่อสังคมทำให้โครงสร้างในสังคมเสมือนจริงเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สื่อสังคมในฐานะผู้กระทำการสามารถมีปฏิสัมพันธ์โดยปราศจากข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ รวมถึงเสรีภาพในการผลิตสร้างและการเผยแพร่ตัวตนผ่านการถ่ายทอดสดการฆ่า/พยายามตัวตาย

    ชวิตรา ตันติมาลา ดุษฎี โยเหลา และจารุวรรณ ขำเพชร ในบทความ “อัตลักษณ์ของตลาดนัดวันศุกร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ทำการศึกษาความหมายและคุณค่าของตลาดนัดวันศุกร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพแบบชาติพันธุ์วรรณนา เก็บข้อมูลแบบสังเกตอย่างมีส่วนร่วมและการสัมภาษณ์กึ่งมีโครงสร้าง เพื่ออธิบายการประกอบสร้างอัตลักษณ์ของตลาดนัดวันศุกร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    ส่วนบทความของ กังสดาล เชาว์วัฒนกุล เรื่อง “สภาพและปัญหาการทำเกษตรปลอดภัยของเกษตรกรในจังหวัดราชบุรี” ศึกษาปัญหาและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการทำเกษตรปลอดภัยของเกษตรกรในจังหวัดราชบุรี ว่ามีความรู้เรื่องเกษตรปลอดภัยอยู่ในระดับใด ปัญหาของการขึ้นทะเบียนเกษตรปลอดภัย และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการทำเกษตรปลอดภัย เพื่อนำไปสู่การดำเนินนโยบายด้านเกษตรปลอดภัยในจังหวัดราชบุรีต่อไป

    บทความของ เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์ เรื่อง “ยักษ์ที่เท้าทำด้วยดินเหนียว: บทวิจารณ์ของ Leo Strauss กับความง่อนแง่นขององค์ความรู้ในการวิจัยเชิงปริมาณ?” ตั้งคำถามถึงวิธีการหาคำตอบสังคมโดยการทำวิจัยเชิงปริมาณที่ใช้เทคนิคทางสถิติเป็นเครื่องมือในการทดสอบสมมติฐานของการวิจัย และอ้างหลักการแบบวิทยาศาสตร์ที่ใช้วิธีการเชิงปริมาณใช้ในการพรรณนากระบวนการและผลการศึกษาประเด็นทางสังคม เช่น  “ความเป็นกลาง” (neutrality) เรื่อง “ความเป็นภววิสัย” (objectivity) ซึ่งในที่สุดก็ไม่ได้ปลอดจากอคติ หรืออารมณ์ความรู้สึกของผู้วิจัย เขาตั้งคำถามท้าทายว่าถึงแม้จะได้คำตอบของการวิจัยเหล่านั้นออกมา แต่คำตอบเหล่านั้นก็เป็นได้เพียงแค่ “ความน่าจะเป็นทางสถิติ” เท่านั้น

    ส่วนบทความของ เอกลักษณ์ ไชยภูมี เรื่อง “การปกครองตามธรรมชาติ: กฎเหล็กสามข้อของการปกครองแบบผสม” อธิบายกรอบแนวคิดเรื่องการปกครองตามธรรมชาติในฐานะที่เป็นฐานคิดของทฤษฎีการปกครองแบบผสมผ่าน “กฎเหล็กของการปกครองแบบผสม” ที่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขเฉพาะและธรรมชาติที่แตกต่างกันขององค์ประกอบภายในของการปกครองแบบผสม

    บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

     

  • กรกฎาคม - ธันวาคม 2560
    ปีที่ 47 ฉบับที่ 2 (2017)

    บทบรรณาธิการ

    วารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ ประกอบไปด้วยบทความที่อภิปรายถึงงานศึกษาด้านความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศในประเทศไทยหลายชิ้นด้วยกัน

    กุลลนันทน์ คันธิก ได้ศึกษาถึงสถานะการศึกษานโยบายต่างประเทศไทย ที่ชี้ให้เห็นถึงช่องว่างที่เด่นชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้กรอบการทำงานในแนวทางการรับรู้จากจิตวิทยาทางการเมือง รวมไปถึงการเสนอให้มีการขยายขอบฟ้าในการศึกษาการกำหนดนโยบายการต่างประเทศของไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

    ศิบดี นพประเสริฐ ศึกษาถึงความเปลี่ยนแปลงของนโยบายต่างประเทศของไทยระหว่างปี ค.ศ.1973- 1976 โดยศิบดีมีข้อถกเถียงสำคัญว่า “ปัจจัยภายนอก” โดยเฉพาะจากการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นส่งผลอย่างสำคัญต่อการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศในภูมิภาคอินโดจีนให้เข้าสู่สภาวะปรกติ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ประเทศไทยเองเริ่มที่จะสร้างระยะห่างทางความสัมพันธ์กับ สหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยศิบดีเน้นถึงบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศของไทยในการริเริ่ม ความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายต่างประเทศที่เกิดขึ้นนี้อีกด้วย

    จิตติภัทร พูนขำ ได้นำเสนอประวัติศาสตร์ของสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในประเทศไทย โดยสังเขป โดยได้ชี้ให้เห็นถึงทางแพร่งทางทฤษฎีที่กำลังเผชิญหน้ากับสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของไทยอยู่ รวมไปถึงสำรวจข้อถกเถียงและความไม่ลงรอยครั้งสำคัญๆ ที่เกิดขึ้น อันนำมาสู่การกำหนดกรอบ “นิยาม” ของการสอนและการวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย ในท้ายที่สุดจิตภัทรได้เรียกร้องให้มีการเปิดพื้นที่สำหรับการสอนและการวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในทิศทางที่พหุนิยมมากยิ่งขึ้น

    กมล บุษบรรณ์ ศึกษาเปรียบเทียบและแสดงให้เห็นถึงความขัดกันของบทบาทขององค์กรสำคัญ ที่มี ส่วนรับผิดชอบในการดำเนินงานด้านนโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีกับประเทศ ไทยระหว่างปี ค.ศ.1960-1980 อันได้แก่องค์กรร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจของสาธารณรัฐเกาหลี และองค์กร ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย จากนั้นกมลก็อภิปรายถึงปัจจัยที่ทำให้องค์กรร่างแผน พัฒนาเศรษฐกิจของสาธารณรัฐเกาหลีสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลมากกว่าองค์กรทางฝั่งไทย ภายใต้กระแสของการเชิดชูคุณค่าของความอ่อนเยาว์และความกลัวต่อการสูงอายุในสังคมไทย

    ภัทรพรรณ ทำดี กลับศึกษาถึงเงื่อนไขที่เอื้อต่อการส่งเสริมศักยภาพของผู้สูงวัย โดยกรณีศึกษาของภัทรพรรณนั้น อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเธอพบว่าสังคมที่พร้อมจะให้การช่วยเหลือ สนับสนุน และบทบรรณาธิการ มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พร้อม ๆ ไปกับการให้ความเคารพต่อตัวตนและพร้อมจะเรียนรู้เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เป็นเงื่อนไขสำคัญในการปลูกสร้างศักยภาพของผู้สูงวัย

    เสฎฐวุฒิ ยุทธาวรกูล วิเคราะห์ว่ากองทัพพม่าหรือทัตมะด่อว์อาศัยชาตินิยมแบบพุทธและความหวาดกลัวอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภัยของชาวมุสลิมโรฮีนจาในการส่งเสริมความชอบธรรมทางการเมือง ของตนอย่างไร โดยทัตมะด่อว์ไม่ได้สร้างความชอบธรรมที่ว่านี้โดยอาศัยแต่เพียงอำนาจรัฐ หากแต่ยังได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ด้วย

    ชญาน์ทัต ศุภชลาศัย นำพาผู้อ่านไปร่วมตั้งข้อสังเกตกว้างๆ ถึงความแตกต่างทางการเมืองและปรัชญาของสลาวอย ชิเชค และเกรแฮม ฮาแมน บางทีวิธีการที่ดีที่สุดในการอ่านข้อถกเถียงระหว่างชิเชคและ ฮาร์แมนนั้น ถึงที่สุดแล้วอาจไม่ใช่การที่เราพยายามสมานความแตกต่างระหว่างทั้งคู่ หากแต่เป็นการกำหนดเขตแดนของประเด็นซึ่งทั้งสองเห็นต่างกันมากกว่า

    ชิ้นสุดท้ายคืองานของชลธิศ ธีระฐิติ ที่ยืนยันว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นไม่เพียงแสดงถึง ความสอดคล้องระหว่างศาสนาพุทธและวิทยาศาสตร์ แต่มันยังนำพาความสอดคล้องนี้ไปสู่ขั้นถัดไปของการมี ความหมายและการนำมาปฏิบัติได้จริงสำหรับทั้งปัจเจกและสังคมโดยภาพรวม

    สรวิศ ชัยนาม

  • มกราคม - มิถุนายน 2560
    ปีที่ 47 ฉบับที่ 1 (2017)

    บทบรรณาธิการ

     เช่นเดียวกับฉบับก่อนหน้าวารสารสังคมศาสตร์ในฉบับนี้ประกอบไปด้วยบทความทั้งหมด 8 ชิ้นบทความของ ธีวินท์ สุพุทธิกุล ได้เสนอว่าตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2  สิ้นสุดลงยุทธศาสตร์ความมั่นคงของญี่ปุ่นได้ถูกกำหนดโดยเครื่องมือที่มีความยืดหยุ่น 3 ชิ้น ได้แก่ รัฐธรรมนูญ มาตรา 9 ระบบพันธมิตร และบทบาทด้านสันติภาพ ธีวินท์ ได้ศึกษาพัฒนาการของชุดเครื่องมือดังกล่าว หรือ การที่เครื่องมือทั้ง 3 ชิ้นนั้นได้ถูกจับคู่ตีความและปรับสถานะและบทบาทในนามของความมั่นคงใน 3 ช่วงเวลาด้วยกัน ได้แก่ ช่วงต้นของสงครามเย็น ช่วงปลายสงครามเย็น และในศตวรรษที่ 21 ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าเครื่องมือเหล่านี้จะยังคงจะถูกใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงของญี่ปุ่นในอนาคตต่อไปข้างหน้า

    บทความของ ชญาน์ทัต ศุภชลาศัย ในวารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดบางประการของลัทธิหลังอาณานิคม (Postcolonialism) และศึกษาแนวความคิดของนักวิชาการลาตินอเมริกาแนวต้านอาณานิคม (Decolonial) อาทิ Walter Mignolo ชญาน์ทัต เสนอว่านักคิดเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง “ญาณวิทยาต้านอาณานิคม” ซึ่งนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในไทยควรจะได้ทำความรู้จักและศึกษาแนวความคิดดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้านักวิชาการไทยต้องการที่จะสร้างทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบไทยขึ้น

    ถึงแม้ว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศบริเวณภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจะคุ้นเคยกับปัญหาผู้ลี้ภัยซึ่งเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงทั้งเรื่องความมั่นคงของรัฐและความมั่นคงของมนุษย์ แต่กรณีผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือได้กลายเป็นประเด็นที่สร้างความท้าทายแก่ประเทศในภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อักษราภัค ชัยปะละ ได้อภิปรายความท้าทายเหล่านี้จากทั้งในแง่ของการตีความทางกฎหมายไปจนถึงความสัมพันธ์ทางการทูต

    ปรีชา อุปโยคิน พลวัฒ ประพัฒน์ทอง และภัทรา ชลดำรงกุล ได้แสดงให้เห็นว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อาศัยในพื้นที่ชายแดนแม่สาย จ.เชียงราย พร้อมทั้งเสนอว่าความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์นั้นเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่นี้ คณะผู้เขียนยังได้ศึกษาการที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เหล่านี้รักษาความสัมพันธ์ที่ดีภายในกลุ่มของตนเอาไว้รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มและความสัมพันธ์กับคนไทยในพื้นที่ (การติดตามศึกษาอาจจะมุ่งประเด็นไปที่ปัญหาการถดถอยทางเศรษฐกิจกระทบต่อความสัมพันธ์เหล่านี้อย่างไร)

    จากมุมมองแบบเสรีนิยม วิชุดา สาธิตพร สติธร ธนานิธิโชติ และเทียนธวัช ศรีใจงาม ศึกษากรณีตัวอย่างของออสเตรเลียฟินแลนด์และอุรุกวัย โดยเสนอว่าถ้าเรากำลังมองหา ‘ผู้นำทางการเมืองที่ดี’ เราต้องมีระบบกำกับและตรวจสอบในแนวทางประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพซึ่งเราไม่จำเป็นต้องระบุว่ามาตรฐานของจริยธรรมสำหรับนักการเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ

    เช่นเดียวกันจากมุมมองเสรีนิยม จิราภรณ์ ดำจันทร์ ได้เสนอว่าการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในประเทศไทยนั้นจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมืองที่วางอยู่บนฐานของการประนีประนอมและฉันทามติอันแสดงถึงแนวทางประชาธิปไตยภาคส่วนทางการเมืองต่าง ๆ จะต้องไม่ใช้รัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามและก้าวขึ้นมามีอำนาจ

    ธีระพล เกรียงพันธุ์ ได้อภิปรายถึงปัญหาเชิงธรรมาภิบาล และการขาดความพร้อมในการถูกตรวจสอบของคุรุสภา พร้อมทั้งนำเสนอข้อแนะนำเพื่อการปรับปรุง

    ในการประเมินผลการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรมตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ. 2553 สุมนทิพย์ จิตสว่าง และปิยะพร ตันณีกุล เสนอว่าการดำเนินงานประสบปัญหาและอุปสรรคมากมายในหลายระดับเนื่องมาจากหลายสาเหตุตั้งแต่การขาดงบประมาณไปจนถึงการขาดความเข้าใจพระราชบัญญัติ

    สรวิศ ชัยนาม

  • กรกฎาคม - ธันวาคม 2559
    ปีที่ 46 ฉบับที่ 2 (2016)

    บทบรรณาธิการ

               ผณิตา ไชยศรนั้นได้ศึกษาเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่มหาสมุทรอินเดียในปี ค.ศ. 2004 จากมุมมองของปฏิบัติการบรรเทาภัยพิบัติโดยมุ่งไปที่สัปดาห์แรกของปฏิบัติการในจังหวัดพังงา พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิมากที่สุดในประเทศไทย โดยเป็นการประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของปฏิบัติการบรรเทาภัยพิบัติดังกล่าว

               ธีรพัฒน์ อังศุชวาลได้อภิปรายแนวความคิดเรื่อง “ประชาสังคม” ของอันโตนิโอ กรัมชี โดยนำไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับมุมมองแบบเสรีของแนวความคิดนี้ กล่าวคือ ธีรภัทรได้ชี้ให้เห็นว่า ในงานของกรัมชีนั้นประชาสังคมไม่ได้ขัดแย้งกับรัฐ แต่มีความสัมพันธ์แบบวิภาษวิธีระว่างประชาสังคมและรัฐ ซึ่งแสดงออกในแนวความคิดเรื่องความเป็นเจ้า

    ในบทความของ รัฐศรัณย์ สิรีกัญจน์ได้ศึกษานิทรรศการต่างๆที่ว่าด้วยภูมิภาคนิยมและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเสนอว่านิทรรศการเหล่านี้อยู่ภายในกรอบคิดความเป็นเจ้าของโลกาภิวัตน์แบบเสรีนิยมใหม่ เขาเสนอความเป็นไปได้ของการผลิตสร้างองค์ความรู้ด้านการจัดแสดงและนำเสนอนิทรรศการ ที่จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจภูมิภาคนิยมที่ไปพ้นแบบเสรีนิยมใหม่ได้ ดังที่ รัฐศรัณย์เหมือนจะสื่อว่า “ภูมิภาคนิยมรูปแบบอื่นนั้นทั้งเป็นไปได้และจำเป็น”

              บทความของ สังศิต พิริยะรังสรรค์ วิเคราะห์ว่าการลงโทษโดยสังคมทั้งทางบวกและทางลบสามารถทำงานควบคู่ไปกับมาตรการทางกฎหมายในการต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นได้อย่างไร โดยสังศิตได้ศึกษาผ่านกรณีต่าง ๆ รวมไปถึงประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และอียิปต์

               เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา และ วีระ หวังสัจจะโชค ศึกษาการเมืองว่าด้วยการพัฒนาในโครงการพัฒนาสองโครงการ โครงการแรกได้แก่ เส้นทางน่าน-หลวงพระบาง ที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้กรอบของแนวคิดการเชื่อมโยงกันในภูมิภาคเพื่อนำไปสู่การพัฒนาของไทยและลาว ส่วนอีกโครงการคือ โครงการจัดทำแผนการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำลำประโดงและวิถีชุมชน อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมุ่งเป้าไปยังการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ภายในบทความได้ศึกษาผลกระทบของโครงการดังกล่าวนี้ในชุมชนท้องถิ่นหลายๆด้านซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นจำต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจในพื้นที่

              ดาวราย ลิ่มส่ายหั้ว ตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดในช่วง อาหรับสปริง  (2010-12) การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเกิดขึ้นได้แค่ในบางประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเท่านั้น ดาวรายได้เปรียบเทียบกรณีของอียิปต์และอิหร่านโดยเสนอว่าเหตุผลสำคัญที่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเกิดขึ้นในอียิปต์และไม้เกิดขึ้นในอิหร่านนั้นเป็นเพราะผู้ประท้วงและการเคลื่อนไหวในอียิปต์สามารถดึงฝ่ายทหารที่ถูกส่งมาสลายผู้ชุมนุมให้เข้ามาสนับสนุนแทนได้

               สืบเนื่องมาจากความเสื่อมความเชื่อมั่นต่อตำรวจไทยของสาธารณชนจนนำไปสู่ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคม พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ ได้เข้ามาศึกษาประเด็นนี้ในทางวิชาการโดยเน้นไปที่การปฏิรูประบบงานสอบสวนของตำรวจซึ่งเป็นเสมือนก้าวแรกของกระบวนการยุติธรรม

              เอเชียแปซิฟิกเป็นหนึ่งในไม่กี่ภูมิภาคในโลกที่มีทั้งประเทศมหาอำนาจและประเทศที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจหลายประเทศ กล่าวอีกอย่างก็คือ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกดูจะเป็นภูมิภาคที่การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจเพื่อสร้างเขตอิทธิพลสุกงอมมากที่สุดในศตวรรษที่ 21 ซึ่ง ณ ขณะนี้ประเทศใดจะก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าในภูมิภาค  ก็ยังเห็นได้ไม่ชัดเจน บทความของ กิตติ ประเสริฐสุขได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นและอินเดียภายใต้บริบทภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในภูมิภาค โดยกิตติเสนอว่าอินเดียและญี่ปุ่นกำลังกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงเพื่อที่จะถ่วงดุลอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้

    สรวิศ ชัยนาม

  • มกราคม - มิถุนายน 2559
    ปีที่ 46 ฉบับที่ 1 (2016)

    บทบรรณาธิการ

    อันที่จริงผมคิดอยากจะเปลี่ยนชื่อบทความของ ชญาน์ทัต ศุภชลาศัย ให้เป็น “The L-Word in Thailand Crackdowns” เนื่องจากโดยปกติแล้วเรามักไม่ค่อยเห็นบทวิเคราะห์การเมืองไทยในมุมมองของลากอง (Jacques Lacan) สักเท่าไรนัก ชญาน์ทัตได้นำเสนอภาษาแบบใหม่ที่เปลี่ยนของเราในเรื่องการเมืองไทยอันนำไปสู่มุมมองการเมืองไทยที่แตกต่างออกไป สำหรับตัวผมแล้วนี่ถือได้ว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญยิ่ง และถือได้ว่าเป็นการท้าทายหรือแทรกแซงเพื่อนำไปสู่การถกเถียงและการวิพากษ์วิจารณ์ มากกว่าที่จะจบลงอยู่แค่ที่ตัวบทความนี้

              ใน “การสร้างความเป็นพลเมืองของคาทอลิกในสังคมไทย” ชวลิต ตรียะประเสริฐ ศึกษาสภาวะความขัดแย้งและการกีดกันของชุมชนจินตกรรมของความเป็นพลเมืองไทย เช่นเดียวกับคอมมิวนิสต์ คนไทยคาทอลิกถูกกีดกันและมองว่าไม่ใช่คนไทย ชวลิตตั้งข้อสังเกตถึงอุปสรรคของชาวคาทอลิกที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมืองไทยและการที่ชาวคาทอลิกเหล่านี้ผ่านกระบวนการ “การทำให้เป็นไทย” เพื่อได้รับการยอมรับทางสังคม โดยผลของความอดกลั้นทางศาสนานี้ “คาทอลิกคนอื่น (Other)” ถูกทำให้ไม่มีอันตราย (Decaffeinated other) ซึ่งก็คือเป็นคนอื่นที่โดยเนื้อแท้แล้วก็เหมือนกับ “พวกเรา” นั่นเอง

              บทความอีกสองชิ้นเป็นเรื่องอาเซียนและอาชญากรรมข้ามชาติ ชิ้นแรกคือ “อาชญากรรมข้ามชาติ:ภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ชิตพล กาญจนกิจ ได้อธิบายว่า ทำไมอาชญากรรมข้ามชาติถึงเป็นประเด็นความมั่นคงแบบใหม่และแสดงให้เห็นถึงลักษณะโดยทั่วไปของอาชญากรรมข้ามชาติ ในการศึกษานี้ ชิตพลได้เสนอว่ารัฐยังคงเป็นตัวแสดงหลัก โดยเฉพาะในรูปแบบของการร่วมมือกับรัฐอื่นๆ

              ส่วนบทความ “อาเซียนกับปัญหาอาชญากรรมทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” พฤดี หงุ่ยตระกูล นำเสนอประเด็นต่อจากจุดที่ชิตพลทิ้งเอาไว้โดยศึกษาลักษณะข้ามชาติของอาชญากรรมทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พฤดี เน้นไปที่การพัฒนาความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อจัดการอาชญากรรมทางทะเลและชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของความร่วมมือ อาทิ ความไม่เชื่อใจกันระหว่างรัฐต่างๆ ในภูมิภาคสำหรับการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระยะยาวนั้น พฤดีเสนอว่าต้องมุ่งไปที่การทำลายกำแพงทางเศรษฐกิจและสังคมที่สร้างและคงไว้ซึ่งการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันในภูมิภาค

              ในบทความ “‘ทำไมจึงไม่ค่อยมีทฤษฏีเศรษฐกิจการเมืองจากฐานองค์ความรู้ทางวิชาการในโลกที่สาม?’: การครอบงำและการเลือกปฏิบัติทางวิชาการจากความรู้แบบสำนักยุโรปเป็นศูนย์กลาง” วีระ หวังสัจจะโชค ได้ตอบคำถามที่เสนอเอาไว้ในหัวข้อของบทความโดยนำเสนอว่า ความคิดที่ยึดเอายุโรปเป็นบทบรรณาธิการศูนย์กลาง อันมีนัยแสดงถึงจักรวรรดินิยม การเหยียดชาติพันธุ์ และความเหนือกว่าของคนผิวขาวนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเกิดและการพัฒนาทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์การเมืองทั้งในสายเสรีนิยมและมาร์กซิสต์ในช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19 (ซึ่งดูเหมือนว่า วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบอเมริกันก็มีประวัติความเป็นมาในลักษณะเดียวกัน) ดังนั้น ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ไม่ได้เป็นตะวันตกจึงไม่ได้รับการพัฒนาตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม วีระเสนอว่าทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มีต้นกำเนิดมาจาก “การเมืองในชีวิตประจำวัน” กำลังท้าทายลักษณะที่ยึดเอายุโรปเป็นศูนย์กลางของเศรษฐศาสตร์การเมืองกระแสหลัก

               ในบทความของ ชุติเดช เมธีชุติกุล ได้นำเสนอประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงของการกำหนดนโยบายต่างประเทศฝรั่งเศสในช่วงสงครามแอลจีเรีย (1954 - 62) โดยเสนอถึงการบรรจบกันของปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองภายในประเทศที่นำไปสู่การตัดสินใจของฝรั่งเศสในสงครามแอลจีเรีย

               บทความของ พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ชี้ให้เห็นว่าหลักสุจริตไม่เพียงบังคับใช้กับกฎหมายเอกชนเท่านั้นแต่ยังใช้กับกฎหมายมหาชนด้วย ดังนั้นแล้ว พรสันต์เสนอว่าหลักสุจริตก็ควรพึงบังคับใช้กับรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกันเพื่อนำมาซึ่งความยุติธรรมของสังคม

               บทความของ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ณัฐพร ไทยจงรักษ์ และจุฬาภรณ์ ขอบใจกลาง ศึกษาปัจจัยที่ส่งต่อการบรรลุถึงโครงการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียนของโรงเรียนต่างๆ ที่เข้าร่วมในประเทศไทย ซึ่งมุ่งเป้าหมายไปที่การส่งเสริมความเป็นพหุวัฒนธรรม ในบทความได้นำเสนอชุดของแนวทางต่างๆ ในการสนับสนุนส่งเสริมแนวความคิดพหุวัฒนธรรมสำหรับโรงเรียนทั้งในเมืองและต่างจังหวัด

    สรวิศ ชัยนาม