ปีที่ 52 ฉบับที่ 1 (2022): มกราคม - มิถุนายน 2565

					ดู ปีที่ 52 ฉบับที่ 1 (2022): มกราคม - มิถุนายน 2565

บทบรรณาธิการ

วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 52 ฉบับที่ 1 ประกอบด้วยบทความ 8 บท ดังนี้

บทความของพวงทอง ภวัครพันธุ์  “การสร้างรัฐเสนานุภาพของไทย จากรัฐประหาร 2490 ถึงรัฐประหาร 2557” ชี้ให้เห็นถึงอำนาจทางการเมืองของทหารไทย ระหว่าง พ.ศ. 2490 จนถึง 2557 ผ่านมโนทัศน์รัฐเสนานุภาพ (praetorianism) ที่มองการสถาปนาอำนาจของทหารผ่านระบบกฎหมาย มีการใช้อำนาจบริหารประเทศและอำนาจเหนือกิจการความมั่นคงภายใน ซึ่งมีระดับที่แตกต่างกันในแต่ละยุค พวงทองชี้ว่ารัฐเสนานุภาพไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการปกป้องสถาบันกษัตริย์ และเห็นว่าแนวคิด “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เป็นทั้งอุดมการณ์ พันธกิจและเป็นแหล่งอ้างอิงความชอบธรรมของกองทัพ ในบทความชี้ให้เห็นถึงความร่วมมือกันระหว่างกองทัพกับพันธมิตรในเครือข่ายรอยัลลิสต์ ผลก็คือรัฐเสนานุภาพไทยสามารถผลักดันนโยบายการพัฒนาไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งทำให้กองทัพมีบทบาทต่อการเมืองไทยและส่งอิทธิพลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลพลเรือนได้

บทความ “ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ภายใต้ระบอบ คสช.: เครือข่ายใหม่ในรูปแบบที่เก่าแก่กว่า” ของ เวียงรัฐ เนติโพธิ์ สำรวจความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ (clientelism) ภายใต้ระบอบ คสช. (พ.ศ. 2557-2562) โดยศึกษาเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการระหว่างตัวแสดงทางการเมือง ต่าง ๆ ผ่านกรอบความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์กับระบอบการเมือง เวียงรัฐตั้งคำถามถึงเครือข่ายระหว่างผู้มีอำนาจรัฐกับประชาชนและเครือข่ายระหว่างนักการเมืองกับประชาชนเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรในช่วงระบอบ คสช. และพบว่าระบอบนี้ได้ใช้ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อทำลายความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับประชาชนและพรรคการเมือง ซึ่งความสัมพันธ์เชิงสถาบันนี้ส่งผลให้เกิดการกลับคืนสู่การเมืองแบบเก่าที่ใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลและระบบราชการ อันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย

ส่วน นรุตม์ เจริญศรี  ได้ทบทวนกรอบคิดสามเหลี่ยมเหล็กซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดง (actors)  หลักในเศรษฐกิจการเมืองของญี่ปุ่น ได้แก่ หน่วยงานราชการ พรรคการเมือง และภาคธุรกิจ ใน “ตัวแสดงในเศรษฐกิจการเมืองญี่ปุ่นกับการกำหนดแนวทางการพัฒนาการเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง: ทบทวนกรอบคิดสามเหลี่ยมเหล็ก” โดยเลือกวิเคราะห์ผ่านนโยบายต่างประเทศญี่ปุ่นที่มีต่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงด้านการขนส่งระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการลงทุนจากบริษัทเอกชนญี่ปุ่นอยู่จำนวนมาก

Jularut Padunchewit (จุฬารัต ผดุงชีวิต) และ Awae Masae (อาแว มะแส) ในบทความ The Use of Photovoice as Reflections on the Citizens’ Voices in Resolving Land Conflicts in Thaplan National Park  สะท้อนการใช้ภาพเล่าเรื่อง (photovoice) เพื่อเป็นวิธีการสื่อสารเพื่อทำให้เห็นประเด็นปัญหาในชุมชนท้องถิ่นผ่านบุคคลในท้องถิ่นที่ประสบปัญหาและการแก้ไขปัญหาที่ดินในอุทยานแห่งชาติทับลาน ผู้เขียนเสนอว่าการใช้ภาพเล่าเรื่องเป็นวิธีการในการเข้าถึงความรู้สึกเชิงศีลธรรมของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือผ่านมุมมองของประชาชนในการพัฒนาชุมชนและสามารถพัฒนาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินได้

บทความของ ดิเรกฤทธิ์ บุษยธนากรณ์ และ สุมนทิพย์ จิตสว่าง “การเปลี่ยนรูปแบบของอาชญากรรมในศตวรรษที่ 21: ปัญหาอาชญากรรมลูกผสมในสังคมไทย” ชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของอาชญากรรมในศตวรรษที่ 21 ที่ปรับรูปแบบจากอาชญากรรมเดี่ยวมาเป็น “อาชญากรรมลูกผสม” กล่าวคือเป็นการผสมผสานกันระหว่างอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ทั้งอาชญากรรมรูปแบบเดิม อาชญากรรมรูปแบบใหม่ อาชญากรรมรูปแบบอื่น ๆ และที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต มีลักษณะเป็นอาชญากรรมแบบเบ็ดเสร็จ เพราะปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยเทคโนโลยี ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมทางสังคมในระดับมหภาค ตลอดจนปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมทางสังคมในระดับจุลภาค ทำให้ผู้กระทำผิดหรืออาชญากรมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายหรือองค์กร สามารถกระทำการข้ามรัฐและเกิดขึ้นไร้พรมแดนโดยใช้เทคโนโลยี ปัจจัยด้านกายภาพ/ชีวภาพตลอดจนปัจจัยด้านจิตวิทยา อาชญากรใช้วิธีการที่หลากหลายและส่งผลกระทบในวงกว้างไม่จำกัดช่วงเวลาและสถานที่ สร้างการเลียนแบบ เข้าถึงเป้าหมายได้ง่ายแต่สร้างความเสียหายได้มาก โดยที่รัฐไม่สามารถติดตามตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ทันที เพราะต้องใช้บุคลากรและงบประมาณจำนวนมากในการป้องกันและปราบปราม

ในบทความ “ระบบดิจิทัลภาครัฐเพื่อการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ: การประเมินผลเชิงคุณภาพในกรณีประเทศไทย” ของ ธนาพร เต็งรัตนประเสริฐและติญทรรศน์ ประทีปพรณรงค์  ศึกษาการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของภาครัฐผ่านระบบการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐ ได้แก่ ระบบการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และระบบให้บริการรับคำร้องขอหนังสือเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร ระบบการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบบพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ กรมศุลกากร และระบบการชำระค่าธรรมเนียมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนปัจจัยที่ทำให้ระบบการใช้งานสำเร็จ ทั้งสองพบว่าองค์ประกอบความสำเร็จของการปรับใช้ภาครัฐดิจิทัลอยู่ที่การลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล การส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัล และการออกแบบสถาปัตยกรรมของภาครัฐเพื่อให้ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

บทความของจิตรสุดา ลิมเกรียงไกร เรื่อง “ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการสังคมในมหาวิทยาลัยไทย” ศึกษาการพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการสังคมในมหาวิทยาลัยโดยการวิจัยเชิงคุณภาพ จิตรสุดาพบว่าระบบนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการสังคมในมหาวิทยาลัยไทยคือ การเชื่อมโยงกันของห่วงโซ่ทางคุณค่าที่มีความสลับซับซ้อน เช่นเดียวกันกับระบบนิเวศทางธรรมชาติ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ ที่มีหน้าที่แตกต่างกันแต่มีการพึ่งพาอาศัยกันเป็นเรื่องสำคัญ องค์ประกอบและปัจจัยเกื้อหนุนต่าง ๆ ได้แก่ การบูรณาการประเด็นการประกอบการทางสังคมเข้าสู่การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย การสร้างงานวิจัยเพื่อส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการสังคม การสร้างเครือข่ายวิจัยเป็นกลไกเชื่อมต่อการสร้างผลกระทบทางสังคม ผ่านกลุ่มผู้ประกอบการสังคม การให้คำปรึกษาและระบบพี่เลี้ยง การเชื่อมต่อความช่วยเหลือจากภาครัฐและภาคเอกชน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุน และการสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกันสำหรับส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการสังคม และองค์ประกอบหลักของระบบนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการสังคมในมหาวิทยาลัยไทยคือทรัพยากรบุคคลในฐานะผู้ขับเคลื่อน ผู้ให้กำเนิดและผลักดันส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการสังคม

“ความคิดทางการเมืองของจอห์น สจ๊วต มิลล์: ว่าด้วยแนวทางการป้องกันทรราชของเสียงข้างมาก” โดย ศักดิ์สิทธิ์ ฆารเลิศ พิศาล มุกดารัศมี และวรารัก เฉลิมพันธุศักดิ์ ใช้วิธีการศึกษาแบบปรัชญาการเมืองวิเคราะห์ตีความตัวบท พบว่าทรราชของเสียงข้างมาก ในทัศนะของ Mill คือสภาวะที่คนฝ่ายเสียงข้างมากในสังคมกดขี่หรือละเมิดเสรีภาพของคนฝ่ายเสียงข้างน้อยในสังคม ทรราชของเสียงข้างมากมี 2 ประเภท ได้แก่ ทรราชของเสียงข้างมากโดยกฎหมาย และทรราชของเสียงข้างมากโดยสังคม Mill หวาดกลัวทรราชของเสียงข้างมาก และถือเป็นความชั่วร้ายประการหนึ่งในสังคมประชาธิปไตย เขาจึงเสนอว่าปัจเจกบุคคล สังคม และรัฐต้องมีหลักการสำคัญอันเป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติร่วมกัน ได้แก่ หลักแห่งอรรถประโยชน์ หลักแห่งเสรีภาพของปัจเจกบุคคล หลักแห่งขันติธรรม หลักแห่งความเป็นภัยอันตรายแก่ผู้อื่น หลักแห่งการมีส่วนร่วม หลักแห่งการปกครองแบบมีตัวแทนและหลักการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น

 

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

 

เผยแพร่แล้ว: 06-09-2022

ฉบับเต็ม

บทความวิจัย