ปีที่ 55 ฉบับที่ 1 (2025): มกราคม - มิถุนายน 2568

cover-vol55no1-2025

บทบรรณาธิการ

บทความในวารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ยังคงมีความหลากหลายในประเด็นศึกษาและองค์ความรู้ทั้งด้านการเมืองการปกครอง ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม อาชญาวิทยา การคลังสาธารณะ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามวัตถุประสงค์ของวารสารสังคมศาสตร์อย่างเหนียวแน่น ความหลากหลายของบทความยังสะท้อนผ่านระดับของหน่วยการศึกษาทั้งระดับปัจเจกบุคคล ชุมชน องค์กรภาครัฐ ประเทศ และระหว่างประเทศ ซึ่งสะท้อนความพยายามของผู้เขียนบทความทั้ง 8 ฉบับในการถกเถียงกับประเด็นพื้นฐานของสังคมศาสตร์ได้แก่ การถกเถียงเรื่องโครงสร้าง-ปัจเจก (Structure-Agent Debate)

บทความทั้ง 8 บทความมีประเด็นร่วมที่สำคัญคือ การเมืองเชิงสังคมของคนชายขอบของการพัฒนา (Societal Politics of Peripheral People in Development) กล่าวคือ บทความให้ความสำคัญกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนากระแสหลัก เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ (Elderly) กลุ่มผู้อพยพ (Immigrants) คนกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Groups) ชาวนาในชนบท (Rural Farmers) ซึ่งต้องการการศึกษาพื้นฐานที่เสนอแนะแนวทางเชิงนโยบายในการปรับปรุงการให้บริการกับกลุ่มคนเหล่านี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างมีส่วนร่วม

ผู้สูงอายุ (Elderly) เป็นกลุ่มคนที่ได้รับความสำคัญในการวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน บทความของ ปริญญา หวันเหล็ม และ ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ เรื่อง “การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและความต้องการในวาระท้ายของผู้ต้องขังสูงวัยในเรือนจำ” ชี้ให้เห็นว่าสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังป่วยต้องเผชิญความยากลำบากในเรือนจำ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยได้ง่าย สภาพแวดล้อมของเรือนจำไม่สอดรับกับวัยสูงอายุ ผู้ต้องขังสูงวัยได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานสากลเทียบเท่าการรักษาในโรงพยาบาลภายนอก ด้วยทีมสหวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในวาระท้ายของชีวิต และความต้องการในวาระสุดท้ายของชีวิตผู้ต้องขังในเรือนจำ คือ การได้ “กลับบ้าน” ที่นับเป็นข้อค้นพบสำคัญ และเป็นความหวังสุดท้ายก่อนสิ้นลมหายใจ ในขณะที่บทความของ เบญจรัตน์ สัจกุล, สุธีรา แสนมนตรีกุล, เพ็ญจันทร์ ประดับมุข เชอร์เรอร์, โกสิน เทศวงษ์, และ เบญจพร พุดซา เรื่อง “การจัดสวัสดิการเพื่อส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อและสร้างความเป็นธรรมทางดิจัลแก่ผู้สูงอายุ” เป็นอีกบทความที่วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่เกิดกับผู้สูงอายุ คณะผู้วิจัยต้องการนำเสนอแนวทางจัดสวัสดิการเพื่อส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ และสร้างความเป็นธรรมทางดิจิทัลแก่ผู้สูงอายุ เพื่อลดการแบ่งแยกเรื่องวัย ขยายอาณาเขตของพื้นที่ทางสังคม และปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุในโลกจริงและโลกเสมือนให้มีความเสมอภาคเช่นเดียวกับวัยอื่น ๆ โดยการนำผลการศึกษาวิจัยมาใช้ประกอบการวิเคราะห์ปรากฎการณ์เหล่านี้ผ่านแนวคิดความเป็นธรรมทางสังคม (Social Justice Theory) ความเป็นธรรมทางดิจิทัล (Digital Justice) และสิทธิมนุษยชนทางดิจิทัล (Digital Human Rights)

ผู้อพยพเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่บทความของ ศิริพงศ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา เรื่อง “การสังเคราะห์ภาวะความเป็นเจ้าบ้านบนพื้นฐานของการวิจัยสังคมเชิงประจักษ์: กรณีศึกษามุมมองเกี่ยวกับผู้อพยพเข้ามาในพื้นที่ปลายทางยอดนิยมของทวีปยุโรป” สังเคราะห์นิยามและองค์ประกอบของแนวคิด “ภาวะความเป็นเจ้าบ้าน” ซึ่งมีรากฐานจากผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงพหุ ระหว่างทัศนคติต่อผู้อพยพเข้ามาในประเทศของตนกับภูมิหลังทางประชากร การเมือง และสังคม ของเจ้าบ้านในพื้นที่ปลายทางยอดนิยมของทวีปยุโรป โดยทัศนคติเชิงบวกต่อผู้อพยพมี 6 ข้อ ได้แก่ 1) การมีส่วนร่วมทางการเมือง 2) การได้รับการตอบสนองความต้องการพื้นฐานอย่างเพียงพอ 3) การมีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์อย่างรอบด้าน ตลอดจนรู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึก 4) การคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะและผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างสมดุล 5) การไม่ยึดติดกับอัตลักษณ์ของตน/พวกพ้องมากเกินไป 6) การมีความเห็นอกเห็นใจ/เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น

บทความของ อภิรัฐ คำวัง เรื่อง “วัฏจักรแห่งอำนาจกับวิถีทางการเมืองของชาวสิงคโปร์เชื้อสายอินเดียภายใต้นโยบายพหุวัฒนธรรม” วิเคราะห์บทบาทของชาวสิงคโปร์เชื้อสายอินเดียในฐานะชุมชนลำดับที่ 3 ภายใต้บริบทนโยบายพหุวัฒนธรรมของสิงคโปร์ โดยศึกษาบูรณาการด้านประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรม และรัฐศาสตร์ โดยชี้ให้เห็นว่าชาวสิงคโปร์เชื้อสายอินเดียสามารถเข้าถึงตำแหน่งสูงสุดในฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นเชิงสัญลักษณ์และตำแหน่งฝ่ายบริหารในระดับสูง อย่างไรก็ดี ตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังเป็นของชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีน สะท้อนการจัดสรรอำนาจระหว่างชนส่วนใหญ่และกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มน้อยในสังคม

เกษตรกรในชนบทเป็นอีกคนกลุ่มหนึ่งที่บทความในวารสารฉบับนี้ให้ความสำคัญ บทความของ วีระ หวังสัจจะโชค เรื่อง “การเมืองและยุทธศาสตร์ของการรวมกลุ่มชาวนา: จาก “นาแปลงใหญ่” สู่ความยืดหยุ่นด้วย “กลุ่มขนาดย่อม”" ศึกษาความยืดหยุ่นปรับตัวของชาวนาต่อบทบาทของรัฐในการส่งเสริมการรวมกลุ่มว่าการรวมกลุ่มของชาวนาผ่านนโยบายนาแปลงใหญ่มีการเมืองและยุทธศาสตร์ตอบสนองต่อนโยบายรัฐในมิติของตัวเอง ผ่านการแย่งชิงทรัพยากรและงบประมาณของรัฐ ผลการศึกษาชี้ว่าชาวนามีความยืดหยุ่นปรับตัวต่อนโยบายรวมกลุ่มของรัฐ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มในมิติที่หลากหลาย บทความของ ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสังคมภาคเกษตรกับเส้นทางสู่ความยากจนข้ามรุ่น: กรณีศึกษาครัวเรือนเกษตรกรจังหวัดอำนาจเจริญ” ชี้ให้เห็นว่าครัวเรือนในภาคการเกษตรที่ยากจนมีความพยายามในการยกระดับฐานะทางสังคมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี แต่ละครัวเรือนก็มีข้อจำกัดและเงื่อนไขในการเลื่อนชั้นทางสังคมที่แตกต่างกัน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสังคมภาคเกษตรที่โอกาส ทรัพยากร และเงินทุน รวมถึงช่องทางการศึกษาของบุตรหลาน เป็นเงื่อนไขในการตัดสินใจด้านการพัฒนาครัวเรือน นอกจากนี้ ปัจจัยเชิงนโยบายที่ถูกกำหนดและนำไปปฎิบัติซ้ำ ๆ โดยไม่ได้คำนึงว่าการนำไปปฎิบัติมีผลกระทบเชิงลบอย่างไรต่อเกษตรกรในพื้นที่ชนบท

ดังนั้นการศึกษานโยบายสาธารณะจึงเป็นงานวิจัยที่สำคัญที่จะช่วยเสนอแนะแนวทางในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่สนับสนุนการพัฒนาของกลุ่มคนในสังคมอย่างยั่งยืน บทความของ วรรณภา ลีระศิริ  และภาคภาคภูมิ แสงกนกกุล เรื่อง “เปรียบเทียบการสร้างรัฐสวัสดิการในกลุ่มประเทศตะวันตกและตะวันออก: แนวทางในการทำความเข้าใจการพัฒนารัฐสวัสดิการ” ศึกษาพัฒนาการของรัฐสวัสดิการในกลุ่มประเทศตะวันตกและตะวันออก เพื่อตอบคำถามว่า การนำเอาความสำเร็จของรัฐสวัสดิการตะวันตกมาเป็นต้นแบบเพียงพอและเหมาะสมต่อการสร้างรัฐสวัสดิการของไทยหรือไม่ รัฐสวัสดิการมีหลากหลายรูปแบบ และประวัติศาสตร์เชิงสถาบันมีอิทธิพลต่อการกำหนดเส้นทางการพัฒนารัฐสวัสดิการ การก่อร่างสร้างรัฐสวัสดิการไทยจึงมิอาจลอกเลียนแบบรัฐอื่นได้ทั้งหมด แต่ต้องเข้าใจบริบทและประวัติศาสตร์ของตนเอง ประยุกต์ปรับปรุงให้เหมาะสมกับปัญหาสังคมที่ประสบอยู่ บทความของ ภาวิน ศิริประภานุกูล เรื่อง ตัวคูณทางการคลัง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย” ประเมินค่าตัวคูณทางการคลัง โดยอาศัยกระบวนการทางเศรษฐมิติที่เป็นที่ยอมรับวงกว้างในปัจจุบัน และพบว่าค่าตัวคูณสะท้อนความไม่มีประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็ก และมีสัดส่วนของภาคเศรษฐกิจนอกระบบในระดับสูง ดังนั้นการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างและยุทธศาสตร์การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนาเป็นแนวทางที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญในระยะยาวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมในอนาคต

ผมขอขอบพระคุณคณบดีและคณะผู้บริหารคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กองบรรณาธิการทุกท่าน ผู้ทรงคุณวุฒิผู้ประเมินบทความทุกท่าน และเจ้าหน้าที่ผู้ช่วงกองบรรณาธิการ ที่สละเวลาอันมีค่าของท่านมาร่วมพัฒนาคุณภาพของบทความในวารสารให้มีความสมบูรณ์แบบและมีคุณภาพเป็นประโยชน์ต่อองค์ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ต่อไปในอนาคต

ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เผยแพร่แล้ว: 30-06-2025

ฉบับเต็ม

บทบรรณาธิการ

บทความวิจัย