Journal Information
ปีที่ 52 ฉบับที่ 2 (2022): กรกฎาคม - ธันวาคม 2565
บทบรรณาธิการ
วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 52 ฉบับที่ 2 ประกอบด้วยบทความ 8 บท ดังนี้
บทความแรก พิรงรอง รามสูต, พิมลพรรณ ไชยนันท์ และ วิโรจน์ สุทธิสีมา เรื่อง “ห้องแห่งเสียงสะท้อนออนไลน์กับผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562” ทำการสำรวจภาวะห้องแห่งเสียงสะท้อน (echo chamber) จากการสื่อสารทางการเมืองในพื้นที่ออนไลน์ของผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกระหว่างการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะของห้องแห่งเสียงสะท้อนในพื้นที่ออนไลน์กับทัศนคติทางการเมือง ตลอดจนปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะห้องแห่งเสียงสะท้อน
บทความของ สุมนทิพย์ จิตสว่าง, นัทธี จิตสว่าง และ แสงโสม กออุดม เรื่อง “แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556” ทำการศึกษาแนวทางการบังคับใช้กฎหมายการป้องกันปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติของต่างประเทศ ทำการประเมินผลการดำเนินงานและผลกระทบของการบังคับใช้ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 และได้เสนอแนะแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวด้วย
ส่วน ธวัฒชัย ปาละคะมาน ในบทความ “การวิเคราะห์เชิงสถาบันของระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับอุทกภัยในประเทศไทย: กรณีศึกษา อุทกภัยจากอิทธิพลพายุโซนร้อนปาบึก พ.ศ. 2562 ในจังหวัดนครศรีธรรมราช” ทำการทบทวนบริบทและแนวคิดระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับอุทกภัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และศึกษาการบริหารจัดการของระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับอุทกภัยของประเทศไทยในเหตุการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลพายุโซนร้อนปาบึกในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ในท้ายบทความมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการเสริมสมรรถนะกลไกเชิงสถาบันของระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับอุทกภัยของประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
สำหรับบทความของ เผ่าไทย สินอำพล เรื่อง “การมีส่วนร่วมในกระบวนการที่ไม่มีส่วนร่วม?: มุมมองต่อการจัดการน้ำหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554” การปฏิรูปโครงสร้างการอภิบาลน้ำของไทยเกิดขึ้นหลังจากกรณีน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554 บทความนี้สะท้อนความก้าวหน้าและความท้าทายในการจัดการน้ำของประเทศไทยภายใต้กรอบแนวคิดการอภิบาลน้ำแบบมีส่วนร่วม และชี้ให้เห็นว่าแม้การจัดการน้ำในปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญต่อวิถีชีวิตผ่านการใช้พื้นที่รับน้ำนองและโครงการจัดการน้ำชุมชนด้วยข้อมูลสารสนเทศ แต่ยังคงความรวมศูนย์อำนาจเอาไว้ จึงมิได้ทำให้เกิด “จุดเปลี่ยนแห่งความร่วมมือ” อย่างแท้จริงและควรมีระบบที่สอดคล้องความต้องการของประชาชนมากกว่านี้
วรัชยา เชื้อจันทึก ในบทความ “การบริหารจัดการภัยพิบัติภายใต้ยุทธศาสตร์การเตรียมพร้อมแห่งชาติ (พ.ศ. 2560-2564): กรณีศึกษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา” ศึกษาระดับการบริหารจัดการภัยพิบัติภายใต้ยุทธศาสตร์การเตรียมพร้อมแห่งชาติ (พ.ศ. 2560-2564) และเพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการภัยพิบัติภายใต้ยุทธศาสตร์การเตรียมพร้อมแห่งชาติ (พ.ศ. 2560-2564)
สุรัตน์ โหราชัยกุล และ สิริกร ธารีรัตนาวิบูลย์ ศึกษาเรื่อง “อินเดียกับการจัดการจลาจลในกรณีแคชเมียร์” ได้ชี้ว่า อินเดียเผชิญความท้าทายด้านความมั่นคงในหลายประการตั้งแต่แรกเริ่มได้รับเอกราช หนึ่งในนั้นคือการก่อจลาจลในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับแคชเมียร์หรือในแคชเมียร์ ปัญจาบภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนักซาไลต์ ผู้เขียนพยายามตอบคำถามว่าอินเดียมีวิธีจัดการกับปัญหาจลาจลในแคชเมียร์อย่างไร และเสนอข้อโต้แย้งสองประการ คือ ประการแรก ปัจจัยภายนอกมีผลต่อการก่อจลาจลในแคชเมียร์อย่างยิ่ง ส่งผลให้รัฐบาลอินเดียแก้ปัญหาได้ยากลำบาก ประการที่สอง การแก้ปัญหาแคชเมียร์ของอินเดียมีหลักคิดและวิธีตรงกับกรอบความมั่นคงแบบดั้งเดิมและกรอบความมั่นคงของมนุษย์ผสมผสานกัน
ส่วนบทความของ อันวาร์ กอมะ และ เอกรินทร์ ต่วนศิริ “เงื่อนไขไตรลักษณ์ของความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐต่อมุสลิมชนกลุ่มน้อย: ศึกษาเทียบเคียงกรณีโรฮีนจาในรัฐยะไข่ของเมียนมากับกรณีมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย” ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับมุสลิมชนกลุ่มน้อยในประเทศเมียนมาและไทย โดยใช้กรณีของโรฮีนจาในรัฐยะไข่เทียบเคียงกับกรณีของมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งสองคนชี้ว่าถึงแม้ว่าเมียนมาและไทยต่างมีผู้นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นส่วนใหญ่ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและมุสลิมชนกลุ่มน้อยของทั้งสองประเทศก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน และเสนอว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมมีความแตกต่างกันตามความสัมพันธ์ที่เขาเรียกว่า “เงื่อนไขไตรลักษณ์” ได้แก่ มุมมองของรัฐต่อมุสลิมชนกลุ่มน้อย อิทธิพลของขบวนการพุทธชาตินิยม และความอ่อนแอของมุสลิมชนกลุ่มน้อย
บทความสุดท้ายในฉบับ ชนิดา จิตตรุทธะ เรื่อง “วัฒนธรรมสร้างสรรค์ขององค์การสมองซีกขวาที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมองค์การระดับโลก: ศึกษากรณีวัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย” ศึกษาลักษณะการใช้แนวคิดวัฒนธรรมสร้างสรรค์ขององค์การสมองซีกขวาในการสร้างนวัตกรรมองค์การ ตลอดจนศึกษามาตรการเพื่อส่งเสริมและประยุกต์ใช้กับองค์การภาครัฐโดยอาศัยการบูรณาการข้ามศาสตร์โดยมองไปที่การสร้างสรรค์ในวัดร่องขุ่น
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ