ปีที่ 50 ฉบับที่ 2 (2020): กรกฎาคม - ธันวาคม 2563

					ดู ปีที่ 50 ฉบับที่ 2 (2020): กรกฎาคม - ธันวาคม 2563

บทบรรณาธิการ

 วารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ มีบทความ 8 บทความ ดังนี้

บทความของ Pisanu Sangiampongsa (พิษณุ เสงี่ยมพงษ์) เรื่อง  The Defense of State’s Role in Public Policy บ่งชี้ถึงบทบาทของรัฐในการกำหนดนโยบายสาธารณะว่ายังมีความสำคัญอยู่โดยวิเคราะห์จากความจำเป็นในเชิงเศรษฐศาสตร์และการเมือง แม้ว่าจะมีผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่ทำให้บทบาทของรัฐในทางเศรษฐกิจลดลง แต่บทบาทด้านอื่นยังดำรงอยู่

ชญานุช จาตุรจินดา ในบทความ “การศึกษาผลการนำนโยบายการส่งเสริมบุคลากรของภาครัฐหลังเกษียณอายุที่มีศักยภาพในการทำประโยชน์ให้ระบบราชการไทยไปปฏิบัติ” ได้ศึกษาเรื่องนโยบายการต่ออายุราชการหลังเกษียณ ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จและแนวทางส่งเสริมนโยบายให้มีประสิทธิภาพผ่านกลุ่มตัวอย่างจากข้าราชการสองกลุ่มคือกลุ่มข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษาและข้าราชการพลเรือนสามัญ

บทความของ นรา แป้นประหยัด เรื่อง “ผลกระทบจากผลิตภาพปัจจัยการผลิตรวมต่อความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของครัวเรือนโดยแบบจำลองดุลยภาพทั่วไปเชิงพลวัต กรณีศึกษาประเทศไทย” ศึกษาผลกระทบของผลิตภาพปัจจัยการผลิตที่มีผลต่อความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของครัวเรือนไทยโดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งบ่งชี้ว่าถึงแม้จะมีมูลค่าผลผลิตเพิ่มและรายได้ครัวเรือนสูง แต่กลับมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงไปด้วย ในบทความมีข้อเสนอทางนโยบายประกอบ

ในบทความของ อลงกต สารกาล เรื่อง “ความสำเร็จขององค์กรปกครองท้องถิ่นในการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน: บทเรียนจากเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์”  เป็นการศึกษาการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยมีกรณีศึกษาที่จังหวัดกาฬสินธุ์และพบว่ามีความสำเร็จในการจัดการสิ่งแวดล้อม

สัณหวรรณ ศรีสด ได้ศึกษาเรื่องอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในแง่สาเหตุจากมุมมองของอาชญาวิทยา ในบทความ “การสังเคราะห์ทางอาชญาวิทยาของอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ซึ่งช่วยทำให้เข้าใจสาเหตุและแบบแผนของอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

สำหรับบทความเรื่อง “Islamophobia as Represented by Thai Buddhist Organizations” ของ Jesada Buaban (เจษฎา บัวบาล) ได้ศึกษาโรคเกลียดกลัวอิสลามที่เสนอผ่านองค์กรชาวพุทธในไทยที่เห็นว่ารัฐไทยสนับสนุนกิจการของมุสลิม ทำให้บรรดาชาวพุทธเห็นว่าไม่เป็นธรรมและเรียกร้องให้รัฐมาสนับสนุนฝ่ายตนบ้าง ขณะเดียวกันก็เผยแพร่มุมมองที่สะท้อนความเกลียดและหวาดกลัวต่อศาสนาอิสลาม 

ส่วน สุวนีย์ เอื้อพันธ์ศิริกุล และสืบสกุล นรินทรางกูร ณ อยุธยา ได้ศึกษาและเสนอแนวทางการการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะของนักการทูตเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล รายละเอียดปรากฏในบทความ “แนวทางการพัฒนานักการทูตไทยสู่มาตรฐานสากล”

ในบทความสุดท้าย เป็นบทความโดย Thanachate Wisaijorn (ธนเชษฐ วิสัยจร) ชื่อ “Post-orientalism on the Thai-Lao Border from 1954 to 2019” กล่าวถึงสภาวะของการอ่านพื้นที่ชายแดนแบบผสม ที่มองว่าองค์ความรู้ตะวันตกเหนือกว่าและชนชั้นนำท้องถิ่นได้นำไปใช้ ทั้งยังมีการยอมรับแนวการอ่านและเขียนกำกับพื้นที่ชายแดนแบบเวสต์ฟาเลียที่เขาเรียกว่า “สภาวะหลังบูรพคดีศึกษานิยม”

 

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

เผยแพร่แล้ว: 25-01-2023

ฉบับเต็ม

บทความวิจัย