ปีที่ 49 ฉบับที่ 1 (2019): มกราคม - มิถุนายน 2562

					ดู ปีที่ 49 ฉบับที่ 1 (2019): มกราคม - มิถุนายน 2562

บทบรรณาธิการ

วารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ประกอบไปด้วยบทความที่หลากหลายเช่นเคย เริ่มจากบทความของ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล พลวัตการเปลี่ยนแปลง การถดถอย และการฟื้นตัวของขบวนการต่อต้านทักษิณ โดยมุ่งไปที่ความคิดของกลุ่มที่หลากหลายจากทั่วทุกภาคทำให้เห็นมิติที่ลึกลงไปตั้งแต่การเสื่อมถอยของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจนถึงการฟื้นตัวของกลุ่มที่ประกอบเป็นขบวนการ หรือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

รัฐศิรินทร์ วังกานนท์ ศึกษาผลของการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ว่าส่งผลต่อการทำให้เป็นประชาธิปไตยอย่างไร ผ่านกรณีศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามแห่งและมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดการงบประมาณแบบมีส่วนร่วมที่เหมาะสม

ในบทความของอดินันท์ พรหมพันธ์ใจ ศึกษารูปแบบของรัฐราชการไทยหลังยุคทักษิณ ชินวัตร และได้ชี้ว่าระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ มีพัฒนาการเชิงสถาบัน โดยใช้สถาบันการเมืองเป็นเครื่องรองรับระบอบและสร้างความเข้มแข็งให้รัฐราชการ

บทความของพิษณุ เสงี่ยมพงษ์ (Pisanu Sangiampongsa) อธิบายที่มาทั้งทางทฤษฎีและข้อมูลเชิงประจักษ์ในปัจจัยที่มีผลต่อการตราและการบังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 โดยชี้ให้เห็นถึงปัจจัยเชิงปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม ปัจจัยทางการเมืองและปัจจัยทางนโยบายส่งผลต่อแนวคิดและการบังคับใช้เป็นผลสำเร็จ แต่กลับไม่บรรลุหลักการเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของแนวคิดการจัดเก็บภาษีมรดก

ชัยยนต์ ประดิษฐศิลป์ และจิรายุทธ์ สีม่วง ศึกษากระบวนการสะสมทุนของคาสิโนชายแดนไทยโดยใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองและทางเลือกนโยบายสาธารณะเพื่อทำความเข้าใจกลไกและกระบวนการสะสมทุนของคาสิโน และได้เสนอข้อคิดเชิงนโยบายหากประเทศไทยจะมีคาสิโนที่ถูกกฎหมายจะเพิ่มปัญหามากกว่า และควรจะมีกลไกสร้างระบบการพนันแบบมีความรับผิดชอบและสร้างพลเมืองที่รู้เท่าทันการพนัน

ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง ศึกษาวาทกรรมความเป็นสากลของการบูรณาการประเด็นเพศภาวะว่าสามารถกลายมาเป็นประเด็นในกระแสหลักขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ได้อย่างไร และชี้ให้เห็นว่าวาทกรรมดังกล่าวไม่ได้มีความเป็นสากล

สิทธิพล เครือรัฐติกาล ศึกษาปัจจัยที่ทำให้จีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับคิวบาในทศวรรษ 1960 ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของจีนในลาตินอเมริกา แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็เสื่อมถอยลงเนื่องจากความขัดแย้งในแนวทางการปฏิวัติระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตแตกต่างกัน และการที่คิวบาหันไปหาโซเวียตทำให้จีนตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ระดับพรรคต่อพรรคกับคิวบาในที่สุด

รัชพล แย้มกลีบ ศึกษาประเด็นเรื่องเรือนร่างและความอ้วนผ่านประสบการณ์ของชายคนหนึ่งที่เคยมีรูปร่างอ้วน ว่าเรือนร่างมิได้เป็นเพียงสิ่งที่ถูกกระทำหรือประกอบสร้างจากโครงสร้างของสังคมเท่านั้น แต่เป็นผลของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและธรรมชาติประกอบกัน

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

 

 

เผยแพร่แล้ว: 14-09-2022

ฉบับเต็ม

บทความวิจัย