ปีที่ 47 ฉบับที่ 1 (2017): มกราคม - มิถุนายน 2560

					ดู ปีที่ 47 ฉบับที่ 1 (2017): มกราคม - มิถุนายน 2560

บทบรรณาธิการ

 เช่นเดียวกับฉบับก่อนหน้าวารสารสังคมศาสตร์ในฉบับนี้ประกอบไปด้วยบทความทั้งหมด 8 ชิ้นบทความของ ธีวินท์ สุพุทธิกุล ได้เสนอว่าตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2  สิ้นสุดลงยุทธศาสตร์ความมั่นคงของญี่ปุ่นได้ถูกกำหนดโดยเครื่องมือที่มีความยืดหยุ่น 3 ชิ้น ได้แก่ รัฐธรรมนูญ มาตรา 9 ระบบพันธมิตร และบทบาทด้านสันติภาพ ธีวินท์ ได้ศึกษาพัฒนาการของชุดเครื่องมือดังกล่าว หรือ การที่เครื่องมือทั้ง 3 ชิ้นนั้นได้ถูกจับคู่ตีความและปรับสถานะและบทบาทในนามของความมั่นคงใน 3 ช่วงเวลาด้วยกัน ได้แก่ ช่วงต้นของสงครามเย็น ช่วงปลายสงครามเย็น และในศตวรรษที่ 21 ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าเครื่องมือเหล่านี้จะยังคงจะถูกใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงของญี่ปุ่นในอนาคตต่อไปข้างหน้า

บทความของ ชญาน์ทัต ศุภชลาศัย ในวารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดบางประการของลัทธิหลังอาณานิคม (Postcolonialism) และศึกษาแนวความคิดของนักวิชาการลาตินอเมริกาแนวต้านอาณานิคม (Decolonial) อาทิ Walter Mignolo ชญาน์ทัต เสนอว่านักคิดเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง “ญาณวิทยาต้านอาณานิคม” ซึ่งนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในไทยควรจะได้ทำความรู้จักและศึกษาแนวความคิดดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้านักวิชาการไทยต้องการที่จะสร้างทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบไทยขึ้น

ถึงแม้ว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศบริเวณภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจะคุ้นเคยกับปัญหาผู้ลี้ภัยซึ่งเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงทั้งเรื่องความมั่นคงของรัฐและความมั่นคงของมนุษย์ แต่กรณีผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือได้กลายเป็นประเด็นที่สร้างความท้าทายแก่ประเทศในภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อักษราภัค ชัยปะละ ได้อภิปรายความท้าทายเหล่านี้จากทั้งในแง่ของการตีความทางกฎหมายไปจนถึงความสัมพันธ์ทางการทูต

ปรีชา อุปโยคิน พลวัฒ ประพัฒน์ทอง และภัทรา ชลดำรงกุล ได้แสดงให้เห็นว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อาศัยในพื้นที่ชายแดนแม่สาย จ.เชียงราย พร้อมทั้งเสนอว่าความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์นั้นเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่นี้ คณะผู้เขียนยังได้ศึกษาการที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เหล่านี้รักษาความสัมพันธ์ที่ดีภายในกลุ่มของตนเอาไว้รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มและความสัมพันธ์กับคนไทยในพื้นที่ (การติดตามศึกษาอาจจะมุ่งประเด็นไปที่ปัญหาการถดถอยทางเศรษฐกิจกระทบต่อความสัมพันธ์เหล่านี้อย่างไร)

จากมุมมองแบบเสรีนิยม วิชุดา สาธิตพร สติธร ธนานิธิโชติ และเทียนธวัช ศรีใจงาม ศึกษากรณีตัวอย่างของออสเตรเลียฟินแลนด์และอุรุกวัย โดยเสนอว่าถ้าเรากำลังมองหา ‘ผู้นำทางการเมืองที่ดี’ เราต้องมีระบบกำกับและตรวจสอบในแนวทางประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพซึ่งเราไม่จำเป็นต้องระบุว่ามาตรฐานของจริยธรรมสำหรับนักการเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ

เช่นเดียวกันจากมุมมองเสรีนิยม จิราภรณ์ ดำจันทร์ ได้เสนอว่าการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในประเทศไทยนั้นจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมืองที่วางอยู่บนฐานของการประนีประนอมและฉันทามติอันแสดงถึงแนวทางประชาธิปไตยภาคส่วนทางการเมืองต่าง ๆ จะต้องไม่ใช้รัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามและก้าวขึ้นมามีอำนาจ

ธีระพล เกรียงพันธุ์ ได้อภิปรายถึงปัญหาเชิงธรรมาภิบาล และการขาดความพร้อมในการถูกตรวจสอบของคุรุสภา พร้อมทั้งนำเสนอข้อแนะนำเพื่อการปรับปรุง

ในการประเมินผลการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรมตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ. 2553 สุมนทิพย์ จิตสว่าง และปิยะพร ตันณีกุล เสนอว่าการดำเนินงานประสบปัญหาและอุปสรรคมากมายในหลายระดับเนื่องมาจากหลายสาเหตุตั้งแต่การขาดงบประมาณไปจนถึงการขาดความเข้าใจพระราชบัญญัติ

สรวิศ ชัยนาม

เผยแพร่แล้ว: 12-10-2022

ฉบับเต็ม

บทความวิจัย

บทวิจารณ์หนังสือ